ปธ.หอการค้าขอนแก่น ไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงรวดเดียว 400 บาท เพราะกระทบภาคธุรกิจชัดเจน โดยขอ “เศรษฐา” อย่าหว่านแห และให้ภาคธุรกิจต้องดิ้นรนหาทางออกเอง พร้อมเผยไตรมาส 3 มีสัญญาณชะลอตัวการลงทุนชัดเจน จากความไม่มั่นใจ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 พ.ค. 2567 ที่สำนักงานหอการค้า จ.ขอนแก่น นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่เปราะบางและภาคธุรกิจต้องตัดสินใจ หากรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาทแบบก้าวกระโดด เพราะในขณะนี้ภาคธุรกิจยังคงเปราะบางมาก ทั้งในเรื่องของการแข่งขัน ปัญหาเรื่องต้นทุน ค่าไฟ ค่าพลังงาน ยอดขาย อีกทั้งธุรกิจบางอย่างที่พึ่งพาสินเชื่อก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งหากรัฐบาลจะประกาศปรับขึ้นค่าแรงจริงตามที่ประกาศนโยบายมานั้นต้องพิจารณารอบด้าน และรับฟังเสียงของผู้ประกอบการทุกระดับด้วย อย่าใช้นโยบายนี้มาหว่านแห

ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรจะเลือกและระบุว่า อุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการใดที่ต้องปรับ หรือเป็นเรือธงต้นแบบที่รัฐบาลต้องการที่จะส่งเสริมจริงๆ โดยเมื่อรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือและนับสนุนแล้ว ก็ให้ภาคราชการนั้นส่งผ่านรายได้และแรงงานที่สูงขึ้นมาเป็นตัวดึงดูดแรงงานทักษะ แรงงานเฉพาะทาง และก้าวสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องการส่งเสริม เพราะหากจะจ่ายค่าแรงอย่างทั่วถึงทุกคน ไม่ใช่สิ่งที่จะปรับแก้หรือแก้ไขเรื่องแรงงาน แต่เป็นการบีบบังคับให้ภาคธุรกิจนั้นปรับตัวเอง ซึ่งจะทำให้คนที่ปรับไม่ไหวก็ล้มหายตายจากไป

...

"ต้องยอมรับว่ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นเปราะบางมาก วันนี้หลายอุตสาหกรรมแข่งขันกันด้วยต้นทุน และค่าแรง อีกทั้งในหลายปีที่ผ่านมาเราสูญเสียอุตสาหกรรมหลายแห่ง ที่ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปในประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเราจะขึ้นค่าแรงเพื่อยกรายได้ให้กับประชาชนจริงๆ รัฐบาลจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้านเทคโนโลยีไทยก็จะต้องปรับกำลังคนไปสู่อุตสาหกรรมในด้านนั้น เพราะเมื่อธุรกิจอุตสาหกรรมที่รัฐบาลส่งเสริมและทำรายได้ดี ก็จะส่งผลต่อการปรับค่าแรงได้ตามที่รัฐบาลกำหนด" นายชาญณรงค์ กล่าว

ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวอีกว่า "หลายอย่างที่ไทยประกาศว่ามีจุดขายและทำได้ แต่ความพร้อมที่จะรับคนต่างชาติ หรือการให้บริการในกลุ่มประเภทต่างๆ นั้นพร้อมจริงหรือไม่ การที่จะรองรับตลาดต่างชาติที่มีค่าใช้จ่ายตัวหัวต่อคนจำนวนมาก เมื่อทำได้จริงมีลูกค้าต่างชาติจริงค่าแรงที่รัฐบาลกำหนดก็จะจ่ายได้ แต่อยู่ดีๆ ให้ทุกคนทำงานเหมือนเดิม ทำแบบเดิม แต่ได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นเพื่อให้ทุกคนนั้นสบายมีกินมีใช้ โดยส่วนตัวมองว่ารัฐบาลผลักภาระให้ภาคธุรกิจนั้นไปดิ้นรนกันเอง เหมือนกันรัฐบาลกำลังถีบภาคธุรกิจเอกชนตกน้ำและให้ไปหัดว่ายน้ำเอง จะอยู่รอดหรือไม่รอดก็ต้องดูว่าว่ายน้ำเองได้หรือไม่"

นายชาญณรงค์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องรอบคอบ คิดให้ดี ใช่เรามีกลไกไตรภาคีในการกำหนดค่าแรงของแต่ละจังหวัดและแต่ละประเภทอยู่แล้ว ขอให้รับฟังกันบ้าง อีกอย่างภาคธุรกิจที่ดี มีแรงงานที่ดี และต้องการรักษาคนเก่าไว้ เราไม่ได้จ่ายที่ค่าแรงขั้นต่ำเสมอไป หลายธุรกิจจ่ายค่าแรงที่แข่งขันกันได้ มีการแข่งขันเพื่อดึงดูดคนไว้ทั้งเรื่องสวัสดิการจากรัฐที่มีให้ และสวัสดิการบริษัทเพิ่มเข้าไปด้วย ดังนั้นการแข่งขันในมุมของภาคเอกชนในกลุ่มตลาดแรงงาน ยืนยันว่าแรงงานไม่เสียเปรียบ เพราะภาคเอกชนก็ยังคงมีการง้อตลาดแรงงานอยู่เช่นกัน ดังนั้นหลายบริษัทมีการนำแรงงานต่างชาติเข้ามา หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง ผลประโยชน์ก็จะไปตกที่กลุ่มแรงงานดังกล่าวนี้อีกด้วย จึงขอให้รัฐบาลทบทวน และพิจารณานโยบายดังกล่าวให้ดีและรอบคอบที่สุด อย่างไรก็ตามขณะนี้ภาคธุรกิจเริ่มมีสัญญาณการชะลอการลงทุน และหลายบริษัทในพื้นที่ภาคอีสานมีสัญญาณจะขยายไปลงทุนในต่างประเทศ จากความไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการ.