ผู้ว่าอุบลฯ สรุปการจัดงาน "อัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ" ที่ อ.พิบูลมังสาหาร ตลอด 30 วัน ทำรายได้สู่อำเภอรวมกว่า 290 ล้านบาท ไม่นับภาพรวมของจังหวัด ชูบริการอาหารท้องถิ่นได้ประโยชน์ทั้ง ปลา กุ้งในแม่น้ำมูล ร้านของที่ระลึกของฝาก กล้วยฉาบ กล้วยเบรกแตกสินค้าโอทอปดัง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 พ.ค. 67 นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า งาน อัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ ณ แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึงวันที่ 30 เม.ย. 67 รวม 30 วัน ตามมติการเปิดประตูระบายน้ำ เขื่อนปากมูล เพื่อการท่องเที่ยวแก่งสะพือ โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน

ผวจ.อุบลราชธานี กล่าวต่อว่า การจัดงานในครั้งนี้ ถือได้ว่าสำเร็จลุล่วงเกินความคาดหมาย เป็นซอฟต์พาวเวอร์ อย่างแท้จริง โดยการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การกิน การดื่ม วิถีชีวิต หรือความเชื่อ นำเสนอผ่านสื่อ หรือผลงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อโน้มน้าวใจของผู้คนให้หันมาสนใจแหล่งท่องเที่ยวแก่งสะพือ ที่มีประวัติศาสตร์เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำของชาวอุบลราชธานีมานานตั้งแต่ในอดีต

...

นายศุภศิษย์ กล่าวอีกว่า แต่หลังการสร้างเขื่อนปากมูล ทำให้แก่งหินจมอยู่ใต้น้ำ และถูกกำหนดด้วยการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล มานานกว่า 30 ปี โดยมี ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร และทีมงาน ภาคีเครือข่ายช่วยกันผลักดันให้แก่งสะพือที่หลับใหลมาอย่างยาวนาน ได้ตื่นขึ้นมาอย่างน่ามหัศจรรย์ ส่งผลให้การจัดงานครั้งนี้ ตลอดทั้ง 30 วันมีเงินสะพัดในพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหารมากกว่า 290 ล้านบาท ไม่นับภาพรวมของจังหวัดอุบลราชธานี

ผวจ.อุบลราชธานี กล่าวด้วยว่า ความสำเร็จของการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น ทั้งร้านอาหารของชาวบ้านที่บริการอาหารท้องถิ่น อาหารประเภทปลา กุ้งในแม่น้ำมูล และร้านขายของฝากของที่ระลึก โดยเฉพาะประเภทกล้วยฉาบ กล้วยเบรกแตก ที่มีชื่อเสียงเป็นสินค้าขึ้นชื่อสินค้าโอทอปของกลุ่มชาวบ้านที่นี่ด้วย.