รมช.คมนาคม ยืนยัน เริ่มคิกออฟสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง มีนาคม 2567 นี้ ยืนยันสถานีอยุธยาพื้นที่อยู่นอกเขตมรดกโลก ชี้ประโยชน์เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน ไม่อยากให้ใช้เป็นประเด็นทางการเมือง คาดทั้งรางและสถานีจะเสร็จทัน ตามกำหนดภายในปี 2571 

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม พร้อมคณะ เดินทางด้วยรถไฟตรวจราชการความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ในพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่าที่สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีต รมช.คมนาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานีรถไฟอยุธยา

...

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟรางคู่ และทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) เพื่อลดข้อกังวลใจของ UNESCO และประชาชน ซึ่งไทยยังไม่เคยมีการจัดทำรายงาน HIA มาก่อน

รมช.คมนาคม กล่าวต่อว่า ทางกระทรวงคมนาคม ตระหนักถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเป็นมรดกโลก ยืนยันว่าสถานีอยุธยาไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNESCO แต่อยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร และมีแม่น้ำป่าสักคั่นอยู่ ดังนั้นการขยายตัวของเมืองเข้าไปในเขตมรดกโลกจึงเป็นไปได้ยาก โดยแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะรองรับผู้โดยสาร รวมทั้งพัฒนาเส้นทางรถสาธารณะ และปรับปรุงระบบขนส่งรูปแบบใหม่

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว มีพื้นที่จอดรถ พื้นที่สีเขียว สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภูมิทัศน์รอบสถานีจะสวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว ยืนยันว่าได้ดำเนินการศึกษาแนวทางปรับปรุงรูปแบบสถานี เพื่อลดผลกระทบต่อโบราณสถาน พร้อมทั้งดำเนินการตามผลการศึกษา ออกแบบรายละเอียด และมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

รมช.คมนาคม กล่าวด้วยว่า การพัฒนาพื้นที่สถานีอยุธยา ถือเป็นการพัฒนาบนแนวเส้นทางเดิม ไม่ได้ทำการเวนคืนที่ดินแต่อย่างใด ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงอยุธยาถือเป็นโครงการพัฒนาที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ รัฐบาลมีแผนรองรับผลกระทบต่างๆ อย่างรอบคอบ และคำนึงถึงความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน และให้การยืนยันว่า จะเริ่มดำเนินการทำสัญญาตามกำหนดได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างรางควบคู่กับตัวอาคารสถานี ตามกำหนดภายในปี 2571 อย่างแน่นอน.

...