เกษตรกรผู้ทำสุราพื้นบ้านโคราชเฮ เร่งปรับสูตรเหล้าสาโทให้ได้รสชาติดั้งเดิม เตรียมผลิตขายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ หลัง ครม.มีมติเห็นชอบลดภาษีเหล้าสาโท เหลือ 0% ชี้ สาโทคือส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตอีสาน หลังจากนี้น่าจะมีคนหมักสาโทมากขึ้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบลดภาษีไวน์ สุราพื้นบ้าน และกิจการบันเทิง เพื่อส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มสุราแช่ชนิดต่างๆ จากเดิมจัดเก็บภาษีอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ให้กำหนดอัตราภาษี โดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย เช่น อุ กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี

โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์, สุราแช่ ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 255 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ และสุราแช่อื่นๆ โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์นั้น

...

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบกับนายกรฉัตรชัย นาสมใจ อายุ 27 ปี เกษตรกรชาว อ.คง ที่กำลังทดลองนำข้าวเหนียวที่ปลูกเองจากพื้นที่ อ.คง มาหมักทำเหล้าสาโท โดยอยู่ระหว่างการปรับสูตรเหล้าสาโท ให้ได้รสชาติแบบเหล้าสาโทพื้นบ้านดั้งเดิม เพื่อเตรียมที่จะนำไปเสนอขอจดทะเบียนตั้งโรงงานผลิตเหล้าสาโท วางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในอนาคต โดยนายกรฉัตรชัย กล่าวว่า มติ ครม.ที่ออกมานี้ ถือว่าเป็นผลดีต่อชาวบ้านที่อยากจะผลิตสุราแช่ หรือเหล้าสาโทมาก เพราะลดการจัดเก็บภาษีเหลือร้อยละ 0 แล้วมาเก็บตามปริมาณลิตรของแอลกอฮอล์แทน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถทำเหล้าสาโทออกมาขายได้ในราคาต้นทุนที่ถูกลงมาก แต่ก็ต้องรู้เรื่องของรายละเอียดในการขอจดทะเบียนเปิดโรงงานทำเหล้าสาโท ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

ผู้ประกอบการสุราพื้นบ้าน โคราช กล่าวต่อว่า หากสามารถทำให้การผลิตเหล้าสาโท แพร่หลายไปทั่วประเทศได้ ก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าได้เป็นอย่างดี เพราะเหล่าสาโท เป็นสุราพื้นบ้านที่อยู่คู่สังคมไทยมาตั้งแต่โบราณ ทำจากข้าวเหนียวที่ปลูกเอง โดยเฉพาะช่วงเกี่ยวข้าว ซึ่งในอดีตชาวอีสาน มักจะมีการลงแขกเกี่ยวข้าวกัน ก่อนที่จะถึงฤดูเกี่ยวข้าว เจ้าของนาก็จะหมักเหล้าสาโทไว้ เพื่อให้คนที่มาช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวได้ดื่มกินหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ดังนั้นเหล้าสาโทจึงถือว่าเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวอีสาน เพียงแต่ไม่สามารถนำมาวางขายได้ จึงทำให้หาดื่มเหล้าสาโทได้ยาก

นายกรฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า แต่ถ้ากฎหมายฯ นี้ออกมา จะเป็นการส่งเสริมให้มีการคิดค้นเหล้าสาโทรสชาติใหม่ๆ ขึ้นมา วางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับรากหญ้าแล้ว ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชาวอีสานไว้ได้ และยังเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้เป็นอย่างดีด้วย.