กลุ่มเซ็นทรัล ทุ่มงบ 3 พันล้าน ยกระดับเมืองรองอย่าง “นครพนม-หนองคาย” เพื่อเสริมศักยภาพเทียบชั้นเมืองหลัก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การเป็นประตูภูมิภาคอินโดจีน ด้วยแนวคิดเซ็นทรัล 3 มิติ สร้าง พัฒนา และทำ ทั้งเมืองคน และสังคม ทั้งจังหวัดลงถึงชุมชน
นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลในฐานะผู้นำค้าปลีกและบริการ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ คือ การขยายธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับเมือง สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชน และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “Growth for the Country, Great for Local Communities” โดยเน้นภูมิภาคที่มีศักยภาพภายในประเทศ รวมไปถึงการสร้างสรรค์ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์ควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ พัฒนาเป็นไลฟ์สไตล์ฮับประจำถิ่น จุดประกายเทรนด์ท่องเที่ยวเมืองรองให้คึกคักสู่จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจตั้งแต่ระดับฐานรากถึงระดับบน ผ่านการดำเนินงาน 3 มิติ คือ “เซ็นทรัล สร้าง”, “เซ็นทรัล พัฒนา” และ “เซ็นทรัล ทำ”
1. รุกบุกเบิกเมืองศักยภาพ ด้วย เซ็นทรัล..สร้าง
สร้างเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการมุ่งมั่นเดินหน้าขยายโครงการต่างๆ ภายใต้การลงทุนที่มุ่งเน้นผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างรอบด้าน (Impact Investment) โดยกระจายการเติบโตไปสู่พื้นที่ที่มีศักยภาพ หรือ “เมืองรอง” ด้วยการชูบทบาทการเป็นศูนย์กลางของชีวิต เร่งเครื่องสร้าง และพัฒนาย่านที่มีคุณภาพสู่แลนด์มาร์กแห่งใหม่อันโดดเด่น เพื่อเป็นแม่เหล็กภาคท่องเที่ยวและบริการใหม่ ถือเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยมีแผนการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) รวมกว่า 135,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท ครอบคลุม 30 จังหวัด
...
สร้างความเจริญให้ชุมชน ส่งเสริม และต่อยอดให้เป็นพื้นที่ทำเลทองของเมือง ก่อให้เกิดความเจริญในทุกพื้นที่ อาทิ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ และเวลเนส เซ็นเตอร์ เป็นต้น
สร้างการลงทุนให้หลากหลายด้วยการขยายการลงทุนเป็น Mixed-Use Development ครอบคลุมศูนย์การค้า ค้าปลีก โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย เน้นการออกแบบก่อสร้างให้คงไว้ซึ่งมนตร์เสน่ห์ และสอดคล้องกับเอกลักษณ์ในพื้นที่ชุมชน โดยจะมีการขยายธุรกิจต่างๆ ในช่วงปี 66-67 อาทิ
สำหรับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 โดยจังหวัดนครพนมมีความสำคัญทางด้านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และเมืองหน้าด่านการค้าและการท่องเที่ยวสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งตั้งอยู่บริเวณชายแดนติดเมืองท่าแขก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีเส้นทางคมนาคมอันโดดเด่น คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 รองรับการเดินทาง และการขนส่งด้านการค้าและการท่องเที่ยว เชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามและจีนตอนใต้ ให้มีมูลค่าการค้าผ่านแดนสูงสุดในประเทศไทย
รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟรางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่จะสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้าและบริการได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้การพัฒนาโครงการใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัลจึงมีส่วนสำคัญในการเสริมศักยภาพให้จังหวัดนครพนมให้เป็นเมืองสุดฮิปในแดนอีสาน ถูกใจนักท่องเที่ยวสไตล์ฮิปสเตอร์ไม่ซ้ำใคร โดยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า ที่เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีนตอนใต้ ส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ผลักดันแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นของนักท่องเที่ยว ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทั้งนี้ จ.นครพนม มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ภาคท่องเที่ยวกว่า 2,200 ล้านบาท
ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จังหวัดหนองคาย งบลงทุน 1,000 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวในปี 2567 เพื่อเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมืองรอง โดย จ.หนองคาย เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเมืองชายแดนติดกับนครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีจุดผ่านแดนด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน ทำให้เป็นที่นิยมในการเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยของประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งมีแผนพัฒนาระบบขนส่งให้เป็นฮับของการขนส่งเดินทาง ทั้งทางบก ทางราง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน-คุณหมิง ในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ หนองคาย มีมูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาว สูงสุดของประเทศไทย ปีละไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท มีนักท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ภาคท่องเที่ยวกว่า 3,350 ล้านบาท
...
สำหรับการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลในจังหวัดนครพนม และหนองคาย จะช่วยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และผลักดันการขยายตัวทางการค้าการลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว อีกทั้งส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนการจ้างงาน และยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน
ด้าน ภาคกลาง ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ (ไตรมาสแรกปี 67) ตั้งอยู่บนแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridors (NSEC) ที่จะร่วมเติมเต็มศักยภาพและเสริมความแข็งแกร่งให้กับจังหวัดนครสวรรค์ควบคู่กับแผนของภาครัฐที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต เช่น รถไฟความเร็วสูงสายเหนือ, รถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด เป็นต้น โดยจังหวัดนครสวรรค์ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย-จีน รวมทั้งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่อีกด้วย, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครปฐม (ไตรมาสสอง ปี 67) เป็นการขยายไปภาคตะวันตก โดยมีนครปฐมเป็นประตูเชื่อมไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือ ราชบุรี และกาญจนบุรี เป็นศูนย์กลางของเมืองรองที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ
2. รุกพัฒนาคน เมือง ประเทศ ด้วย เซ็นทรัล..พัฒนา
พัฒนาคน เมื่อพื้นที่หัวเมืองหรือเมืองรองเกิดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ จะกลายเป็นศูนย์กลางหรือเดสติเนชั่นแห่งการช็อปปิ้ง อาหาร แบรด์ดัง แฟชั่น และการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับฐานราก ชุมชน เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ทำให้ผู้คนทุกระดับมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจมีสภาพคล่องที่ดี อีกทั้งสร้างโมเมนตัมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้โตอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การสะพัดของเม็ดเงินตลอดอีโคซิสเต็มในระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้กลุ่มเซ็นทรัลคาดว่าภายใน 5 ปี จะมีพนักงานประจำรวม มากกว่า 100,000 คน และมีการจ้างงานมากกว่า 300,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ
...
พัฒนาเมือง ส่งเสริมให้เกิดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่เร่งให้เกิดการปรับปรุง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้อย่างมีศักยภาพ รองรับระบบคมนาคม การค้า โลจิสติกส์ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุน นักเดินทางเพื่อธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
พัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์การลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัล มีเป้าหมายในการร่วมพัฒนาประเทศ และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ยกระดับประเทศให้มีรายได้ต่อครัวเรือนให้สูงขึ้น ต่อยอดให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค อีกทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ก้าวไปข้างหน้า และสร้างความแตกต่างด้วยแม่เหล็กที่เป็นศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่น ในรูปแบบ Community-based tourism and sustainable tourism ปั้นเมืองรองให้โดดเด่น กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นด้วยงบสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศกว่า 400 ล้านบาทต่อปี ปักธงไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก
3. รุกยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม ด้วย เซ็นทรัล..ทำ
ทำให้สังคมน่าอยู่ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้เติบโตร่วมกันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้ทุกคนในสังคม ตลอดจนใส่ใจสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” - ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ โครงการด้านความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล ดำเนินงานภายใต้แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values – CSV)
ทำการพัฒนาพื้นที่ ครอบคลุม 44 จังหวัด ด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2565 สร้างรายได้ให้ชุมชนรวมกว่า 1,500 ล้านบาท สนับสนุนชุมชนกว่า 100,000 ครัวเรือน สร้างอาชีพให้คนพิการ 751 คน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และฟื้นฟูป่า 5,519 ไร่ ทั้งนี้ในปี 2566 ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้ชุมชน 1,800 ล้านบาท ปลูกป่า 6,500 ไร่
...
ทำเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมและมอบโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบ Project-based Learning ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในฐานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาหลักสูตรการศึกษา พัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำการอบรมโค้ชครู เพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนแบบท่องจำ ให้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข รวมไปถึงการปรับปรุงสถานศึกษา และมอบทุนการศึกษา
ทำให้คนพิการมีงานทำ ส่งเสริม สร้างอาชีพ เพิ่มโอกาสในการทำงานแก่คนพิการให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการแบ่งปันความรู้ สอนทักษะ และสร้างอาชีพ เพื่อฟื้นฟูศักยภาพ ส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพคนพิการ เปิดโอกาสโดยการรับเป็นพนักงานประจำกว่า 80 คน ที่ศูนย์ Contact Center และศูนย์ซ่อม นอกจากรายได้ที่มั่นคงแล้ว สิ่งสำคัญคือ การได้รับการยอมรับจากคนในสังคม
ทำให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน ด้วยโครงการจริงใจ ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรท้องถิ่นนำพืชผักผลไม้ปลอดภัย และสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนมาจำหน่ายในพื้นที่ของกลุ่มเซ็นทรัล สร้างรายได้ที่มั่นคง และสร้างสุขภาพที่ดีให้ผู้บริโภค ปัจจุบันขยายสาขามากกว่า 32 สาขาทั่วประเทศไทย สนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรกว่า 10,000 ครัวเรือน และสร้างรายได้ให้ชุมชน 255 ล้านบาท
ทำพื้นที่ให้มีประโยชน์ต่อชุมชน โดยการมอบพื้นที่จำหน่ายสินค้าฟรี ปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ตร.ม. คิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท
ทำให้เป็นธุรกิจสีเขียว ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เดินหน้าสู่ Net Zero ในปี 2050 พร้อมขับเคลื่อนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาทิ ศูนย์การค้าต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานทดแทน การติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ สถานีอีวีชาร์จเจอร์ การบริหารจัดการขยะ ฯลฯ
ทำให้ทุกคนมีความสุขด้วยการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการพัฒนาสินค้าชุมชน และจัดหาช่องทางตลาด, การส่งเสริมและบูรณะพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี, การสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่, การสนับสนุนโอกาสการศึกษา, กิจกรรมวิ่งมินิมาราธอนการกุศลระดมทุนช่วยผู้ป่วยมะเร็งในสตรี, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกป่า และการส่งเสริมเอสเอ็มอี เป็นต้น.