อดีตเลขาธิการหอการค้าอีสาน ชี้ นายกฯ “เศรษฐา” ไปคุยกับ CEO บริษัทยักษ์ใหญ่อเมริกา เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของไทย แนะเร่งทำ FTA กับต่างชาติให้เร็วที่สุด ก่อนที่เขาจะไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านหมด
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566 นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงภารกิจการเดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 78 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย. 66 ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ว่า การที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติฯ ในครั้งนี้ ซึ่งมีการแสดงวิสัยทัศน์ และการเข้าพบผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งของสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นการแสดงออกให้เห็นว่านายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะเป็นนักธุรกิจอย่างแท้จริง ส่วนการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ จะตัดสินใจไปลงทุนที่ใดนั้น ไม่ใช่ไปชวนเขาแล้วมาเลย แต่เขาจะต้องดูเงื่อนไขต่างๆ ประกอบด้วย เช่น เรื่องเสถียรภาพทางการเมือง, เรื่องภาษี และเรื่องกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น
อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น เวียดนาม เขามีเงื่อนไขที่ดีพอที่จะดึงดูดความสนใจให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้าไปลงทุนมาก จึงทำให้นักลงทุนต่างๆ แห่ไปลงทุนที่เวียดนามอย่างต่อเนื่อง แต่มองกลับมาที่ประเทศไทย เสถียรภาพทางการเมืองก็ไม่ค่อยแน่นอน การคอร์รัปชันก็มีมาก เช่น ระบบส่วย มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ซึ่งนักลงทุนต่างชาติไม่ชอบระบบจ่ายส่วย เพราะจ่ายเท่าไรก็ไม่จบ อีกทั้งกฎหมายต่างๆ ก็ยังไม่เป็นสากล เช่น กรณีโฮปเวลล์ ที่อนุญาโตตุลาการตั้งขึ้น ในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ แล้วอนุญาโตตุลาการตัดสินแล้วว่าเราทำผิดสัญญา ต้องจ่ายค่าโง่ให้เขา แต่สุดท้ายเราใช้ศาลปกครองของไทย บอกว่าเราไม่ผิด ทำให้ต่างชาติมองว่ากฎหมายของบ้านเรายังไม่เป็นสากล นักลงทุนต่างชาติเขาจึงไม่ค่อยกล้ามาลงทุนมากนัก ดังนั้นรัฐบาลต้องไปปรับปรุงเรื่องกฎหมายให้สอดคล้องกับสากลด้วย
...
"นาทีนี้การลงทุนข้ามชาติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนักลงทุนทั่วโลกมีปัญหาข้อจำกัดในเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวกันหมด ดังนั้นการลงทุนในช่วงตลาดขาลงคงจะต้องคิดหนักกว่าเดิมมาก เพราะถ้ามาลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว จะมีลูกค้าซื้อของเขามากน้อยเพียงใด แต่ถ้านายกรัฐมนตรีสามารถเชิญชวนบริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุนที่ประเทศไทยได้สัก 1-2 บริษัท ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไปคุยครั้งนี้ เป็นบริษัทชั้นนำของโลกทั้งนั้น" นายทวิสันต์ กล่าว
อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวอีกว่า ถ้าเทียบประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น ที่ผ่านมาเขาได้เปรียบเรามาก เนื่องจากช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจมา ซึ่งนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมั่นใจในรัฐบาลที่ยึดอำนาจมานัก ทำให้เขาหันไปลงทุนในประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เพราะประเทศที่เขามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีข้อตกลงเรื่อง FTA หรือการให้สิทธิประโยชน์การค้าระหว่างประเทศที่มากกว่า
นายทวิสันต์ กล่าวว่า ดังนั้นตอนนี้ประเทศไทยได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องเร่งไปทำ FTA กับประเทศคู่ค้าทั่วโลกให้มากขึ้น และเร่งด่วนด้วย ไม่เช่นนั้นเขาก็จะไปลงทุนประเทศอื่นหมด เพราะภาพรวมเรื่องอื่นๆ ประเทศไทยดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ระบบสาธารณูปโภค ระบบการคมนาคม การขนส่ง ภูมิประเทศ เราไม่แพ้ประเทศใดในแถบนี้อยู่แล้ว ตอนนี้เราแพ้อยู่เรื่องเดียว คือ เรื่องสิทธิประโยชน์ FTA ที่สำคัญตอนนี้ประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน กำลังทำสงครามทางการค้ากันอยู่ ซึ่ง 2 ประเทศนี้เขาพยายามกีดกันสินค้าที่ผลิตจากประเทศคู่แข่งอย่างเข้มงวด ทำให้บริษัทต่างๆ พากันไปหาลงทุนยังประเทศที่ 3 เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องสงครามการค้า
"ดังนั้นประเทศไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ นายกรัฐมนตรีควรมอบอำนาจให้กับ รมว.ต่างประเทศ เพื่อเข้าไปเจรจากับประเทศคู่ค้าต่างๆ เพื่อดึงให้เขามาลงทุนที่ประเทศไทยให้มากขึ้น รมว.ต่างประเทศ ต้องเป็นเบอร์ 2 รองจากนายกรัฐมนตรี เพราะสถานการณ์ตอนนี้ ประเทศไทยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศมาก ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ทุกอย่างคือหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ดังนั้นการไปพูดคุยกับซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทยเลยทีเดียว" อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าว.