การค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่จุดผ่อนปรนบ้านแจมป๋องไทย-สปป.ลาว ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ตอนนี้ชาวลาวข้ามมาค้าขายลดลง หลังค่าเงินกีบร่วงไป 650-700 กีบ/1 บาท ขณะที่ร้านฝั่งไทยก็ไม่รับเงินกีบ ส่วนแม่ค้าชาวลาว วอนรัฐบาลลาวเร่งแก้ปัญหาค่าเงิน

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 66 จ.ส.ต.ไชยวัฒน์ หิรัญรัตน์ จนท.ตม.จว.เชียงราย ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจผ่อนปรน เปิดเผยว่า ที่ชายแดนที่จุดผ่อนปรนบ้านแจมป๋องไทย-สปป.ลาว ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เปิดให้ประชาชนสองฝั่งโขงไทย-สปป.ลาวข้ามไป-มาทุกวัน เพื่อนำสินค้าพื้นบ้านและเครื่องอุปโภคบริโภคมาวางขายแลกเปลี่ยนกันโดยเฉพาะตลาดนัดวันพุธ โดยชาวลาวจะนำของป่าของเกษตรเข้ามา และจะสั่งซื้อเครื่องมือการเกษตร วัสดุก่อสร้างตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคกลับไป ที่ผ่านมาก่อนเกิดสถานการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีการซื้อขายกันคึกคักมีเงินหมุนเวียนเดือนละกว่าหลายสิบล้านบาท 

...

จนท.ตม.จว.เชียงราย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ คนลาวข้ามมาน้อยลงเหตุ เพราะเศรษฐกิจภายในของ สปป.ลาวเอง ที่ค่าเงินกีบตกต่ำอ่อนค่าจากปกติ 250 กีบ/1 บาทไทย ขณะนี้ อ่อนค่าลงถึง 650-700 กีบ/1 บาทไทย ส่งผลให้คนลาวกำลังซื้อลดลง เพราะคนลาวจะนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากฝั่งไทย จึงต้องหาแลกเงินบาทจากฝั่งลาวมาซื้อของจากประเทศไทย เพราะในฝั่งไทยร้านค้าไม่รับการชำระสินค้าด้วยเงินกีบ จะมีเฉพาะพ่อค้ารายใหญ่บางส่วน ยังรับค่าชำระสินค้าเป็นเงินกีบ แต่ต้องเช็กราคาแลกเปลี่ยนรายวัน 

ด้าน นางคำสี แม่ค้าชาวลาวที่อาศัยอยู่บ้านด่าน แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งนำสินค้าประเภทอาหารสำเร็จท้องถิ่นแปรรูป มาวางขายที่ตลาดนัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันชาวลาวได้รับผลกระทบด้านค่าครองชีพมาก สาเหตุเพราะค่าเงินกีบอ่อนค่าลงโดยเงินกีบลาวจากเดิม 250 กีบแลกเปลี่ยนเงินไทยได้ 1 บาท แต่ปัจจุบัน 650-700 กีบ ต่อ 1 บาทไทย ที่ตนนำสินค้ามาจำหน่ายในฝั่งไทยส่วนใหญ่จะรับเป็นเงินบาท และสินค้าขายได้ราคาดีกว่าขายใน สปป.ลาว และจะซื้อสินค้าจากไทยกลับไปขายที่ฝั่งลาวอีกที จึงอยากฝากให้รัฐบาล สปป.ลาว ช่วยดูแก้ปัญกระทบจากค่าเงินกีบให้กับชาวลาวเร่งด่วนด้วย.