ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่โคราช จี้ รัฐบาลใหม่เร่งให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องด้านการเงินให้กลุ่ม SME พร้อมสนับสนุน อุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

ภายหลังจากที่มีการทำ MOU ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและการทำงานร่วมกันของ 8 พรรคการเมือง โดยมี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยตัวแทนจากอีก 7 พรรคการเมืองร่วมการลงนาม เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (22 พฤษภาคม 2566) ซึ่งหนึ่งในภารกิจของรัฐบาลที่จะผลักดัน คือเรื่องการยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งใบอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรค เพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

ต่อมา วันนี้ (23 พ.ค. 2566) ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ SME เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SME ตามที่ระบุใน MOU ฉบับจัดตั้งรัฐบาลนี้ โดย นางแสนสุข เติมศรีสุข หรือ เจ๊อ้อย อายุ 63 ปี เจ้าของร้าน “เจ๊อ้อย เฉาก๊วยโบราณ” หนึ่งในผู้ประกอบการ SME ที่มีร้านตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า รู้สึกพอใจกับ MOU ที่จัดทำขึ้น เพราะว่าผู้ประกอบการรายย่อยจะได้ลืมตาอ้าปากเสียที เมื่อก่อนจะทำหาเงินทุนมาหมุนเวียนกิจการก็ติดขัดไปหมด ขาดสภาพคล่อง ซึ่งการที่ว่านายกฯ และตัวแทนจากอีก 7 พรรคการเมืองร่วมได้ออกมาแถลงการณ์ให้ลงนามความเข้าใจร่วมกันแบบนี้ ก็ทำให้ SME สบายใจมากขึ้น มองเห็นหนทางประกอบสัมมาอาชีพได้ต่อไป

...

เจ้าของร้าน “เจ๊อ้อย เฉาก๊วยโบราณ” กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ก็อยากวอนไปถึง ส.ว.ทุกท่าน ได้โปรดเห็นใจ ได้พิจารณาตามเหตุผลความเป็นจริง บ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นก็จะหยุดชะงักไปต่อไม่ได้ ที่ผ่านมาครอบครัวของตนประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เพราะเศรษฐกิจทรุด ถึงขั้นต้องขายบ้านไป 1 หลังเพื่อเอาเงินมาพยุงธุรกิจและไว้ใช้จ่ายหนี้สิน พอเห็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค จับมือกัน ก็มีกำลังใจฮึดสู้อีกครั้งเผื่อจะมีอะไรดีขึ้น

ด้าน นายจำรัส เติมศรีสุข อายุ 65 ปี สามีของนางแสนสุข เจ้าของร้าน “เจ๊อ้อย เฉาก๊วยโบราณ” บอกเสริมว่า เห็นด้วยที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีนโยบายช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องของการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ SME เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการ SME แทบจะไม่กล้าทำอะไรเลย เนื่องจากทำสินค้าอะไรออกมาก็ขายไม่ได้ ไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดอะไรมารองรับ ทำให้ต้องโดนตรวจสอบเป็นประจำ ไม่ว่าจะเรื่องที่ อย.มาตรวจสอบคุณภาพสินค้า หรือ สรรพสามิตมาตรวจสอบเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการหรือการเสียภาษี เป็นต้น จะโดนตรวจสอบแทบทุกอย่าง

...

สามีของนางแสนสุขฯ กล่าวด้วยว่า จากปัญหาที่กล่าวมา ส่วนตัวมองว่า น่าจะมีการผ่อนผันกันบ้าง สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เพิ่งจะเริ่มประกอบกิจการ หรือเพิ่งจะผลิตสินค้าออกมาขาย ทุกรายอยากจะผลิตสินค้าคุณภาพออกมาทั้งนั้น แต่ถ้าจะให้ได้มาตรฐานสูงเหมือนกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ก็ไม่มีเงินทุนเพียงพอ มีหลายรายที่เพิ่งจะผลิตสินค้าออกมา ยังไม่ทันได้ขาย ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเอากฎหมายมาเล่นงานแล้ว อย่างนี้จะมีพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ไหนมีเรี่ยวแรงไปทำต่อได้อีก จึงอยากให้เห็นใจพวกเราผู้ประกอบการรายย่อยด้วย .