"สสก.3 ระยอง" เปิดโครงการส่งเสริมหยุดเผาในพื้นที่เกษตรภาคตะวันออกประสบสำเร็จ หวังป้องกันภาวะโลกร้อน-พื้นที่เพาะปลูกเสื่อมโทรม-ลดฝุ่นละออง พร้อมนำร่องจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 67 นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง (สสก.3 ระยอง) กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยมีปัญหามลพิษทางอากาศ คือ การเผาวัสดุทางการเกษตร เพื่อเตรียมแปลงปลูกในฤดูถัดไปของเกษตรกร ซึ่งนำไปสู่ภาวะโลกร้อน พื้นที่เพาะปลูกเสื่อมโทรม สูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน ทำลายห่วงโซ่อาหาร และเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหา เราจึงได้รณรงค์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม

นางอุบล กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ความรับผิดชอบของ สสก.3 ระยอง ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรของภาคตะวันออกขึ้น โดยรณรงค์ให้เกษตรกรที่ปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ หรือไม้ผล ได้ตระหนักรู้ถึงการไม่เผาในพื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง

...

นางอุบล กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่เกษตรกรเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนั้น ก็ด้วยความเชื่อว่าจะสามารถไล่หนู กำจัดโรคพืชและแมลงในแปลงปลูกได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมานานแล้ว ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหา ทางกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ทุกจังหวัดที่มีการทำนา จัดทำข้อมูลไว้พร้อม รณรงค์เพื่อให้เกษตรกรไม่เผาหลังการเก็บเกี่ยว โดยให้ใช้วิธีการอัดฟางข้าว การไถกลบตอซัง การใช้น้ำหมักย่อยสลายฟางข้าว และการเอาฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากที่สุด เช่น นำมาเป็นส่วนผสมปุ๋ยหมัก นำมาคลุมดินรักษาความชื้นให้ไม้ผล การเพาะเห็ดฟาง ใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาในบ่อดิน เป็นต้น

"หลังจากที่มีการรณรงค์การหยุดเผา การแก้ไขการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร พบว่าคุณภาพของอากาศเริ่มดีขึ้น คือ ลดฝุ่นละออง และความร้อนในเขตพื้นที่นั้นๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เกษตรกรมีรายได้จากการขายฟางข้าว ทำให้มีรายได้เพิ่ม" นางอุบล มากอง กล่าว

ด้าน นายสัมพันธ์ ศรีอ่อน ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.องครักษ์ จ.นครนายก เปิดเผยว่า ตนทำนาข้าว โดยเน้นไม่เผาฟาง ไม่เผาตอซัง พร้อมปลูกปอเทือง เพื่อปรับปรุงคุณภาพดิน และน้อมนำศาสตร์พระราชาในการแกล้งดินมาใช้ ด้วยการปล่อยน้ำเข้านาหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อล้างหน้าดินและหมักตอซัง และใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่มาเป็นพันธุ์ปลูก และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้

"ผมใช้ฟางข้าวคลุมโคนต้นไม้ในสวน บริเวณคันสระน้ำและคันบ่อปลา เพื่อลดการระเหยของน้ำในช่วงหน้าแล้ง เอาฟางข้าวมาเป็นอาหารปลาโดยไม่ต้องซื้ออาหารปลา ผมทำต่อเนื่องพร้อมเผยแพร่ความรู้นี้ให้สมาชิกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตสินค้าเกษตร (ศพก) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนในหมู่บ้านกว่า 20 ราย เพื่อร่วมกันไม่เผาฟางข้าว มีเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเขาเห็นประโยชน์จากการไม่เผาฟางข้าว" นายสัมพันธ์ ศรีอ่อน กล่าว

ทั้งนี้ ผลจากการเตรียมพื้นที่โดยไม่เผาตอซัง จะช่วยให้เกษตรกรได้ปุ๋ยบำรุงดินจากการไถกลบตอซัง และปุ๋ยพืชสด ช่วยลดค่าปุ๋ยเคมี ทำให้ดินมีค่า pH ความเป็นกรด-ด่างที่ 5.5-6.0 ดินดีขึ้นจากเดิมที่มีค่า pH อยู่ที่ 3.0-3.5 ขณะเดียวกันยังได้ฟางข้าวมาอัดก้อนขาย ถ้าจ้างอัดจะมีรายได้ก้อนละ 4-5 บาท โดยพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ฟางก้อนประมาณ 40-50 ก้อน ถ้าอัดฟางและขายเองหน้านา จะอยู่ที่ราคาก้อนละ 30-35 บาท หักค่าอัด 15 บาท เหลือกำไรก้อนละ 15-20 บาท นับเป็นรายได้เสริมจากการเลิกเผาฟางข้าวของชาวนาได้ไม่น้อย ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีบำรุงต้นข้าวในฤดูเพาะปลูกถัดไปอีกด้วย

...