“ผบ.ทร.” สั่งนับ 1 ปฏิบัติการกู้ซากเรือหลวงสุโขทัย ทหารเรือไทย-สหรัฐฯ ร่วมส่งนักประดาน้ำลงสำรวจใต้ทะเลจุดเรือจมภารกิจแรกตัดป้ายชื่อเรือหลวง “สุโขทัย” นำขึ้นฝั่งเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เน้นค้นหาชิ้นส่วนมนุษย์ส่งพิสูจน์ DNA เปรียบเทียบกับญาติผู้สูญหายทั้ง 5 รายเดดไลน์จบภารกิจภายใน 19 วัน ย้ำทุกคำถามคาใจต้องมีคำตอบที่กระจ่างให้สังคม บนขอ “เสด็จเตี่ย” ให้ภารกิจทุกอย่างราบรื่น เผยใช้งบประมาณแค่ 110 ล้านบาทเท่านั้น

ปริศนาดำมืดกำลังจะคลี่คลาย กรณีเรือหลวงสุโขทัยได้เกิดอับปางลงกลางทะเลอ่าวไทย เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 18 ธ.ค. 65 ขณะนำกำลังพล 105 นาย ออกเดินทางจากกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี มุ่งหน้าไปร่วมงานฉลองครบรอบ 100 ปี กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ศาลหาดทรายรี จ.ชุมพร แต่ถูกพายุคลื่นลมแรงซัดกระหน่ำจมลงใต้น้ำลึก 40 เมตร ห่างชายฝั่งในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 20 ไมล์ทะเล สร้างความกังขาให้กับสังคมอย่างยิ่ง เนื่องจากเรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือคอร์เวต ชั้นรัตนโกสินทร์ เป็น 1 ใน 5 เรือรบที่มีศักยภาพสูงที่สุดของกองทัพเรือไทย สามารถรบ 3 มิติ ต่อสู้ได้ทั้งทางอากาศ บนผิวน้ำและใต้น้ำ แต่ทำไมถึงอับปางอย่างง่ายดาย ส่งผลให้กองทัพเรือต้องสูญเสียกำลังพล 24 นาย สูญหาย 5 นาย รอดชีวิต 76 นาย รวมทั้งสูญเสียเรือรบทันสมัย และอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท

หลังผ่านมากว่า 2 ปี ปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัยอับปางเริ่มนับ 1 แล้ว เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 22 ก.พ. พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ S 768 ของกองทัพเรือไปยังเรือหลวงอ่างทอง ที่จอดประจำการอยู่ในบริเวณพื้นที่ในการปฏิบัติภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัย (แบบจำกัด) ห่างจากชายฝั่ง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 20 ไมล์ทะเล มี พล.ร.อ.ชาติชาย กองสะอาด ผบ.กองเรือยุทธการ และ น.อ.ฮิว วิงเคิล ผู้ช่วยทูตทหารเรือสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ให้การต้อนรับ

...

จากนั้นคณะของ ผบ.ทร.ได้ขึ้นเรือ ต.998 ไปยังเรือ Ocean Valor ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่จอดปฏิบัติงานห่างออกไปประมาณ 3 ไมล์ทะเล เพื่อเข้าตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจในการร่วมปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ไทยและสหรัฐอเมริกา ที่ได้ส่งเรือ Ocean Valor พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยประดาน้ำ และกู้ซ่อมเคลื่อนที่ (Mobile Dive and Salvage Unit) มาร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย

เบื้องต้นมีการส่งนักประดาน้ำจากไทยและสหรัฐฯ ดำลงไปด้วยการใช้กระเช้าส่งลงไปใต้ทะเล เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจซากเรือ ค้นหา ตรวจสอบบริเวณตัวเรือและบริเวณโดยรอบตามภารกิจ ในวันนี้มีเรือหลวงอ่างทองเป็นฐานบัญชาการ และเรือหลวงบางระจัน ลอยลำคอยสนับสนุนภารกิจในครั้งนี้ ก่อนที่คณะของ ผบ.ทร.จะเดินทางด้วยเรือ ต.998 กลับมายังเรือหลวงอ่างทอง และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. เปิดเผยว่า กองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯได้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจที่ถือว่าจะเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ขอขอบคุณกองทัพเรือสหรัฐฯ นักดำน้ำสหรัฐฯ กำลังพล Ocean Valor เมื่อได้ขึ้นไปดูบนเรือแล้วได้เข้าใจถึงความยากลำบาก เนื่องจากเรือ Ocean Valor เป็นเรือเปล่า อุปกรณ์ทั้งหมดลำเลียงมาทางเครื่องบินจากฮาวายเพื่อถ่ายลงเรือที่สิงคโปร์ และเรือ Ocean Valor วิ่งต่อจากสิงคโปร์มาร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ กองทัพเรือซาบซึ้ง ภารกิจแรกในวันนี้ช่วงเช้านักดำน้ำคนแรกจากสหรัฐอเมริกา และนักดำน้ำคนที่สองจากไทยและนักดำน้ำสำรองจากสหรัฐฯได้ดำลงไปปฏิบัติภารกิจเรียบร้อยแล้ว

ผบ.ทร.กล่าวต่อว่า สิ่งแรกที่จะนำขึ้นมาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ คือ ป้ายชื่อเรือหลวง “สุโขทัย” จากนี้ภายในอีก 5 วัน จะถ่ายรูปเรือทั้งลำและค้นหาผู้เสียชีวิต จากนั้นวันที่ 6-19 ของภารกิจจะเป็นการทำลายอาวุธที่เป็นอันตรายและนำทุกอย่างที่สามารถนำขึ้นมาได้ขึ้นมา สิ่งของต่างๆที่มีคุณค่าทางจิตใจ เราจะนำสิ่งต่างๆไปทำอนุสรณ์สถานให้เรือหลวงสุโขทัยและจะจบภารกิจภายใน 19 วัน

“ในส่วนการสอบสวนหาสาเหตุที่เรือจมเพราะอะไร สิ่งต่างๆจะต้องชัดเจน คนไทยฟังแล้วต้องเข้าใจว่าเรือจมเพราะอะไร คำถามทั้งหมดต้องคลี่คลาย หลังจบภารกิจจะรีบแถลงข่าวให้ทราบเร็วที่สุด ส่วนตัวอยากเอาเรือขึ้นมาทั้งลำเพื่อให้เห็นกับตา แต่มาร์กวันนั้นว่าตอนตี 3 น้ำเริ่มเข้าตรงไหน ตอนตี 4 อะไรเกิดขึ้น เรามีหมด เราต้องการเอามาเทียบระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับคำให้การจากการสอบสวน จากภาพถ่ายใต้น้ำที่ได้ว่าสอดคล้องกัน จุดที่พบความเสียหายคือรอยปริที่หัวเรือ ส่วนจะเกิดจากสาเหตุอะไรขอให้รอข้อมูล ยืนยันไม่ได้ปริเนื่องจากการซ่อมบำรุง ก่อนเรือจมผู้การเรือหลวงสุโขทัย ได้สั่งให้ประตูเรือตามขั้นตอนเรียบร้อย วันนี้รูปที่ออกมาตรงตามนั้นจริง” พล.ร.อ.อะดุงกล่าว

พล.ร.อ.อะดุงยังกล่าวว่า การดำน้ำจะสลับสับเปลี่ยนกัน ไดฟ์แรกวันนี้ นักดำน้ำสหรัฐฯจะเป็นหลัก นักดำน้ำ ทร.เป็นนักดำน้ำรอง และนักดำน้ำสหรัฐฯจะสแตนด์บายกรณีฉุกเฉิน ไดฟ์ที่สองนักดำน้ำ ทร.จะเป็นนักดำน้ำหลัก นักดำน้ำสหรัฐฯจะเป็นนักดำน้ำรอง และนักดำน้ำ ทร.จะสแตนด์บาย สลับสับเปลี่ยนกันไป ในแต่ละชุดจะมีนักดำน้ำ 2 คนอยู่ใต้น้ำ และอีก 1 คน อยู่บนเรือสแตนด์บายเผื่อกรณีฉุกเฉิน นักดำน้ำในภารกิจครั้งนี้เป็นของ ทร.35 คน และของสหรัฐฯ 14 คน ในแต่ละไดฟ์จะใช้เวลาลงสู่ใต้ท้องทะเลโดยกระเช้า ใช้เวลาดำลงไปประมาณ 10 นาที ปฏิบัติภารกิจใต้ท้องทะเล 40-45 นาที และขึ้นกระเช้าดึงกลับขึ้นบนเรืออีก 10 นาที เมื่อขึ้นมาแล้วเข้าไปอยู่ในแชมเบอร์ 1 ชั่วโมง

“การปฏิบัติการครั้งนี้ใต้น้ำมีทัศนวิสัยที่ดีมาก หลังจากที่ ทร.ได้ไปบนขอเสด็จเตี่ยที่ชุมพรมา น้ำข้างล่างใสมากเห็นภาพชัดเจน ไม่มีคลื่นลมหรืออันตรายที่เป็นอุปสรรค ภาวนาว่าขอให้ตลอดภารกิจนี้คลื่นลมสงบและอากาศเป็นเช่นนี้ ภาพที่ได้เห็นเรือหลวงสุโขทัยยังคงตั้งอยู่ใต้ก้นทะเล สภาพเหมือนเดิม คือเอียง 7 องศาฯ ตัวเรือมีเพรียงมาจับอยู่เหมือนเช่นที่เห็นในสารคดี กลายเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์ใต้น้ำ สำหรับป้ายชื่อเรือ “สุโขทัย” จะตัดออกจากตัวเรือนำขึ้นมาให้ได้ภายในวันนี้ ส่วนความกังวลเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังมีอยู่ในตัวเรือ จากที่ได้รับรายงานเหลือไม่เยอะแล้ว เนื่องจากเรือวิ่งไปปฏิบัติราชการมาแล้ว แต่หลังจากจบภารกิจนี้แล้ว กองทัพเรือจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร” ผบ.ทร.กล่าว

...

พล.ร.อ.อะดุงกล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของผู้สูญหาย หากพบชิ้นส่วนมนุษย์จะนำขึ้นมาให้ตำรวจดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย ส่งพิสูจน์ DNA เพื่อเทียบกับญาติของผู้สูญหายทั้ง 5 ราย ที่ได้เก็บตัวอย่างไว้แล้ว จะใช้เวลาในการตรวจพิสูจน์ประมาณ 14 วัน จากนั้นทางกองทัพเรือจะเป็นเจ้าภาพจัดพิธีให้สมเกียรติเช่นที่ผ่านมา ส่วนในเรื่องของงบประมาณที่ใช้ในครั้งนี้ กองทัพเรือได้ประมาณการงบประมาณอยู่ที่ 200ล้านบาท เป็นในส่วนงบของกองทัพเรือ 110 ล้านบาท และรัฐบาลสนับสนุนอีก 90 ล้านบาท แต่กองทัพเรือจะส่งคืน 90 ล้านบาทให้รัฐบาลนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นกองทัพเรือจะบริหารจัดการในส่วน 110 ล้านบาทนี้ที่เริ่มมีค่าใช้จ่ายแล้ว และจะสรุปตัวเลขอีกครั้งหลังจบภารกิจ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่