กรณีจีนปลูกทุเรียนเองจะออกสู่ตลาดกว่า 2 พันตันกลางปีนี้ ชาวสวนทุเรียนจันทบุรีไม่กลัว คุณภาพไทยเหนือกว่า แต่ระยะยาวต้องปรับตัว ส่วนล้งผลไม้ ชี้ยอดส่งออกยังดี ห่วงทุนจีนฮุบสวนทุเรียนเพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 หลังจากมีกระแสข่าวทางโลกโซเชียล ถึงการอวดโฉม ผลผลิตทุเรียน ที่มีการเพาะปลูกในประเทศจีน และกำลังจะออกสู่ตลาดในประเทศกว่า 2,400 ตัน กลางปีนี้ ซึ่งข่าวดังกล่าวออกมาในช่วงที่ทุเรียนภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.จันทบุรี ที่ขณะนี้ทยอยออกสู่ตลาดไปแล้ว ในช่วงต้นฤดูกาล ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสอบถาม ถึงกระแสข่าวดังกล่าว จากเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และผู้ประกอบการล้ง บรรจุทุเรียนส่งออก ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ถึงความวิตกกังวลกับกระแสข่าวนี้หรือไม่

นายมานพ อมรอรช เจ้าของสวนทุเรียนนำสุข ต.ซึ้ง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่ทำสวนทุเรียนมาหลายสิบปี ทั้งสายพันธุ์เศรษฐกิจ และสายพันธุ์โบราณ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า รู้สึกไม่กังวลกับข่าวที่จีนปลูกทุเรียนแล้วผลผลิตจะออกสู่ตลาดกลางปีนี้ แต่ขึ้นอยู่กับว่า การยืนระยะในการปลูกแล้ว จะให้ผลผลิตทุกปีนั้น ซึ่งถ้าหากเป็นไปได้ ก็จะมีผลกระทบกับชาวสวนอยู่บ้างในระยะยาวข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปลูกแล้วให้ผลผลิตออกมาตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งต่างจากทุเรียนจันทบุรี หรือภาคตะวันออก ดูแลรักษาคุณภาพตั้งแต่เริ่มปลูก ที่ว่าประเทศยักษ์ใหญ่นำเข้าอย่างจีน ยกให้เรื่องคุณภาพเป็นอันดับแรก ซึ่งทุเรียนแถบประเทศเพื่อนบ้านเรามีปลูกกันแล้ว แต่ยังสู้เรื่องคุณภาพไม่ได้

...

เมื่อถามว่า จุดเด่นที่เป็นซิกเนเจอร์ ของทุเรียนจากจันทบุรี เจ้าของสวนทุเรียนนำสุข กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพเป็นหลักเลย โดยแต่ละปัจจัย ทั้ง ดินฟ้า อากาศ น้ำ ชาวสวนที่ปลูกต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ก็จะมีเทคนิคดูแลในแต่ละขั้นตอน ส่งผลให้ได้ ผลผลิตมี รสชาติดีกว่า เนื้อสัมผัส กลิ่นและรูปลักษณ์ ตรงตามสายพันธุ์เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ในส่วนของการปรับตัว หากกระแสการปลูกทุเรียนในจีนยังคงนิยมในอีก 3-4 ปี ข้างหน้านั้น ชาวสวนเองก็ต้องปรับตัว ทั้งเรื่องของ ลดต้นทุนการผลิตแต่ละปี แต่ต้องยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพ ต้องมองถึงการแปรรูป แน่นอนว่า หากทุกประเทศหันมาปลูกทุเรียนเพื่อบริโภคเองและส่งออก ผลผลิตในบ้านเราก็จะมากและล้นตลาด ห้องเย็นจึงเป็นทางเลือก ในการรอแปรรูปและส่งออก อีกทางออกหนึ่ง คือ หันมาปลูกทุเรียนเบญจพรรณ หรือทุเรียนโบราณหายาก หรือทุเรียนเศรษฐกิจสายพันธุ์มาเลเซีย ซึ่งตลาดยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็แล้วแต่ หากชาวสวนยังคงรักษาคุณภาพของทุเรียน และราคาไม่ดิ่งต่ำกว่าต้นทุน ก็ยังไม่ต้องวิตก เพียงแต่ต้องหาวิธีการเตรียมรับมือ หรือปรับตัวไว้แต่เนิ่นๆ

ขณะที่ ผู้ประกอบการล้ง ทุเรียนส่งออก ในพื้นที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี อย่างเช่น นายณัฐกฤษฏ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตร ไทย-จีน ในฐานะผู้ประกอบการล้ง กล่าวว่า ไม่รู้สึกวิตกกังวลกับข่าวของทางประเทศจีน เพราะในแต่ละปีก็จะได้ยินว่าประเทศนั้น ประเทศนี้หันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น เนื่องจากรายได้จากการส่งออกทุเรียนเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งประเทศไทยส่งออกทุเรียนปีละกว่า 1 ล้านตัน กับข่าวของทางประเทศจีน ทำทุเรียนออกสู่ตลาด 2,400 ตัน ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับการส่งออกของบ้านเรา

...

ผู้ประกอบการล้ง ทุเรียนส่งออก กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการล้งทุเรียน น่ากังวลยิ่งกว่าการที่จีนปลูกทุเรียนในประเทศเอง คือ ปัจจุบันจีนเข้าไปลงทุนปลูกทุเรียนในต่างประเทศ เช่น ลาว /เวียดนาม จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะลาว ขณะนี้พื้นที่เพาะปลูกน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่แล้ว ซึ่งเหล่านี้ ก็จะมีปัจจัยต้นทุนต่างๆ รวมทั้งการของขนส่ง ถูกกว่าบ้านเรา

นายณัฐกฤษฏ์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าทางจีนจะปลูกทุเรียนเองได้ แต่ปีนี้ กลับพบว่า นายทุน ชาวจีน เดินทางมาทำล้งทุเรียนกันมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นเครื่องหมายการันตีอย่างดี ในเรื่องคุณภาพของทุเรียนส่งออกของ จันทบุรี ที่ยังเป็นเบอร์ 1 เรื่องของคุณภาพผลผลิต ซึ่งหากเกษตรกรชาวสวนเจ้าของสวน รวมไปถึงมือตัด และล้งส่งออก ช่วยกันรักษาคุณภาพ ชื่อเสียงไว้เช่นนี้ตลอด ราคาก็จะดีไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ได้รับความนิยมไปตลอด.

...