เดิมทีชาวบ้านแถบนี้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่วนใหญ่เป็นข้าว แต่เมื่อเกษตรพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางในหลวง ร.9 เริ่มแพร่หลาย ชาวบ้านเริ่มสนใจ แต่ยังขาดศูนย์กลางที่จะให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมเรียนรู้และประกอบกิจกรรม เราจึงได้บริจาคที่ดิน 22 ไร่ พร้อมช่วยเหลือในเรื่องอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือแทบทุกอย่าง รวมถึงบุคลากรในการฝึกอบรม รวมทั้งเกาะติดพื้นที่ติดตามความก้าวหน้ามาโดยตลอด ขณะที่ กศน.ในพื้นที่ได้ส่งบุคลากรเข้ามาช่วยอีกแรง ทำให้ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงาน พื้นที่ แลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งกับชาวบ้าน และปราชญ์เกษตรจากพื้นที่อื่น”

เชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ บอกเล่าถึงที่มาของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอคลองเขื่อน บ.หัวลำพู ต.คลองเขื่อน อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา

...

เมื่อเกิดศูนย์เรียนรู้ สิ่งที่ตามมาคือ เกิดการรวมตัวของปราชญ์ชาวบ้านแต่ละสาขา เข้ามาช่วยให้ความรู้ โดย เฉพาะเรื่องของเกษตรผสมผสาน ลดต้นทุนการใช้สารเคมี โดยสารชีว ภัณฑ์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก การใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ต่อยอดไปถึงการให้เยาวชนเรียนรู้ในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า อันเป็นหัวใจสำคัญของความมั่นคงในเรื่องน้ำของภาคตะวันออก ตลอดจนการอนุรักษ์พื้นที่ป่า และบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดค่ายเยาวชน ลดการสูญเสียน้ำในโรงเรียน นำคนในองค์กรมาช่วยฝึกอาชีพชาวบ้าน และส่งเสริมให้นักศึกษาในพื้นที่เข้ามาฝึกงาน และรับเข้าทำงานกับบริษัท ซึ่งเราทำมาอย่างต่อเนื่อง

สุชาติ เสน่หา เกษตรกร ผู้ได้รับประโยชน์ และเป็นผู้จัดการศูนย์ อธิบายถึงรายละเอียดเพิ่มเติม... เรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่นี่จะให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่เชิงเดี่ยวตามความเหมาะสม และความถนัดของแต่ละคน ไม่ไปกำหนดว่าต้องแบ่งพื้นที่เท่าไร ทำอะไร แต่
เน้นเรื่องการปลูกพืชผักหัวไร่ปลายนาเป็นรายได้เสริม แบ่งพื้นที่ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก สารชีวภัณฑ์ เพื่อลดต้นทุนสารเคมี รวมถึงการขุดบ่อท้องร่อง เก็บกักน้ำ เลี้ยงปลา แล้วจับทีละน้อยๆ เพื่อเป็นรายได้รายวัน

สำหรับการขุดบ่อเก็บกักน้ำและเลี้ยงปลา ที่นี่จะใช้เทคนิคการเลี้ยงปลาแบบแซนด์วิช โดยปลูกกล้วย คะน้าเม็กซิโก พืช หรือปล่อยหญ้าไว้ริมขอบบ่อ เพื่อให้เป็นอาหารปลากินพืช ส่วนกลางบ่อจะใช้ฟางข้าว ที่รณรงค์ให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่เผาหลังเก็บเกี่ยวข้าว นำมูลสัตว์มาโรยสลับกันไปเป็นชั้นๆจนเสมอขอบน้ำ นำไม้มากั้นโดยรอบ เพื่อสร้างไรแดง หรือสัตว์หน้าดินอื่นๆไว้เป็นอาหารปลา เมื่อฟางย่อยสลายก็ทำวิธีการเดิม ทำให้ไม่ต้องให้อาหารเลยตลอดการเลี้ยง เรียกได้ว่า “ลดต้นทุนค่าอาหารได้ 100%”.

...

กรวัฒน์ วีนิล