สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย กรณี “น้ำมันรั่วไหลลงทะเลระยอง” จุดขนถ่ายน้ำมันดิบกลางทะเลที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กลายเป็นหายนะต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ยากในการประเมินค่าได้

สร้างความวิตกกังวลให้ “ผู้ประกอบการท่องเที่ยว คนขายอาหารทะเล และชาวประมงพื้นบ้าน” ที่ยังไร้การเยียวยาตั้งแต่เกิดเหตุรอบแรก “บริษัทกลับปล่อยน้ำมันรั่ว 3 รอบ” โดยไม่มีมาตรการรัดกุมเข้าดำเนินการรองรับจนเกิดเหตุขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกนี้ วีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง บอกว่า

เหตุน้ำมันรั่วสร้างความเดือดร้อนทั้งประมงพื้นบ้าน ชุมชน ธุรกิจการท่องเที่ยวระยอง เพราะนับแต่มีภาพปลาปนเปื้อนคราบน้ำมันแพร่ออกไป “อาหารทะเลก็ขายไม่ออก” ผู้บริโภคกลัวการรับประทานที่อาจเกิดอันตราย

อย่าว่าแต่คนทั่วไปไม่กล้ากิน แม้ “ชาวประมง” ก็ไม่นำปลาไปปรุงเลี้ยงครอบครัวด้วยซ้ำ อย่างนี้คนนอกพื้นที่จะกล้ากินอย่างไร แล้วที่ “ผู้ใหญ่กินอาหารทะเลโชว์โปรโมตการท่องเที่ยวก็เห็นด้วยไม่ขัด” แต่ถ้านักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้รับสารเคมีปนเปื้อนติดตัวไปโดยไม่รู้ตัว เกิดผลกระทบระยะยาวแบบนี้หน่วยงานใดรับผิดชอบ

...

หนำซ้ำจนมาปัจจุบัน “ก็ยังไม่ปรากฏหน่วยงานรัฐใด” เข้ามาให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วไหล 3 ครั้ง 3 ครานี้...ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “ชุมชน และชาวประมงพื้นบ้าน” ต่างพากันออกยื่นเอกสารขอความช่วยเหลือจาก “ผู้ว่าฯระยอง” แต่เรื่องก็เงียบหายไม่มีการตอบสนองใดออกมา

ความจริงตามหลักหาก “เกิดเหตุอุบัติภัย” หน่วยงานภาครัฐควรเข้ามาดูแลในเบื้องต้นก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบนี้ ตัวอย่างกรณี “อุบัติเหตุรถชน” คู่กรณีมักต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่ารักษาพยาบาลทันที แล้วเมื่อภายหลังรักษาพบว่า “แขนขาหัก” ก็จะจ่ายค่าชดเชยให้เพิ่มอีก

ในส่วน “บริษัทก็ไม่เคยออกมารับผิดชอบจริง และไม่เคยยอมรับผิดด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นต้นเหตุทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลมหาศาล” เป็นผลกระทบทำลายวิถีชีวิตอาชีพชาวประมงพื้นบ้านเดือดร้อนเสียหายยับเยิน แล้วสิ่งที่บริษัททำได้คือ ประชุมให้ความหวัง ผัดวันประกันพรุ่งชดเชยค่าเสียหายไปเรื่อยๆ

เท่าที่รู้บริษัทยังไม่เริ่มประเมินความเสียหายจากผลกระทบเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลเลยด้วยซ้ำ แล้วอย่างนี้จะจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการขาดประโยชน์ในการทำมาหากินได้อย่างไร...?

สะท้อนให้เห็น “ระบบบริหารจัดการน้ำมันรั่วไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้จริงสักอย่าง” โดยเฉพาะตัวเลขปริมาณน้ำมันไหลลงกลางทะเลก็ค่อนข้างสับสนไม่ชัดเจน ทำให้เป็นข้อกังวลต่อแนวทางการฟื้นฟูในอนาคต เพราะการไม่รู้ว่าสารเคมีตกค้างในทะเลมีเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องยากที่จะฟื้นฟูให้ระบบนิเวศกลับคืนสู่สภาพดั่งเดิมได้

แต่จริงๆแล้วเรื่องปริมาณน้ำมันหาตัวเลขได้ไม่ยาก สามารถคำนวณจากการใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันจมใต้ทะเลได้ ตามข้อมูลกรมควบคุมมลพิษอนุญาตให้นำสารเคมี 85,400 ลิตร ใช้ขจัดคราบน้ำมันย่อยสลายแล้วสารเคมี 1 ลิตร ขจัดน้ำมันได้ 10 ลิตร ถ้าใช้จริง 8 หมื่นลิตร อาจอนุมานใช้รับมือน้ำมันดิบกว่า 8 แสนลิตร จริงหรือไม่

สิ่งนี้เป็นรายละเอียดมาจาก “นักวิชาการ หรือหน่วยงานราชการ” ที่มีการเผยแพร่ออกมาอย่างชัดเจน แต่กลับมีความพยายามปกปิดข้อมูลตัวเลขกันที่จากเดิมเคยบอกว่า ปริมาณน้ำมันรั่วไหล 4 แสนลิตร แล้วก็ลดลงเหลือ 1.6 แสนลิตร ถัดมาเหลือ 5 หมื่นลิตร สุดท้ายเหลืออยู่ที่ 4.7 หมื่นลิตร ทำให้ไม่อาจสรุปตัวเลขได้ถึงวันนี้

...

ผลตามมาคือ “ข้อมูลปริมาณน้ำมันรั่วไหลขัดแย้งกัน” เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่อาจดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูผลกระทบต่อระบบนิเวศ หรือผลกระทบทางสุขภาพคนในชุมชนได้ ฉะนั้นหากจริงใจแก้ปัญหาอันดับแรกเปิดเผยปริมาณน้ำมันรั่วไหลให้ชัดเจน เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาฟื้นฟูปัญหาให้สอดรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ

มิเช่นนั้นอาจซ้ำรอย “เหตุการณ์น้ำมันดิบปี 2556” ตอนนั้นจำนวนปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหวจากท่อส่งกลางทะเลอ่าวไทยราว 5 หมื่นลิตร กระจายตัวครอบคลุมทะเลก่อนเคลื่อนตัวเข้าหมู่เกาะเสม็ด โดยเฉพาะ “อ่าวพร้าว” เป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดแล้วใช้เวลาควบคุมเก็บกู้คราบน้ำมันได้เพียง 1 สัปดาห์

คราวนั้นจำได้ว่า “การเก็บกู้ใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันล่มลงใต้ท้องทะเล” ส่วนคราบน้ำมันที่ถูกคลื่นซัดเข้ามาอ่าวพร้าวสามารถเก็บกู้น้ำมันออกไปได้บางส่วนแล้วส่วนที่เหลือไม่อาจเก็บได้ก็ใช้วิธีนำรถไถฝังกลบคราบน้ำมันตามชายหาดเกาะเสม็ดอันเป็นลักษณะแบบกำจัดให้พ้นสายตาผู้คนเท่านั้นด้วยซ้ำ

กระทั่งทำให้เห็นว่า “สถานการณ์ดูคลี่คลายไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก” แต่ความจริงก่อความเสียหายระบบนิเวศทางทะเลนาน 9 ปี โดยเฉพาะสัตว์น้ำย้ายหนีไปหากินพื้นที่อื่นแทบไม่เหลือให้ชาวประมงจับ เช่น กุ้งเคย มักเป็นอาหารปลาแล้วตามปกติมีพื้นที่หากินตลอดแนวทะเลระยอง-ชลบุรีห่างชายฝั่งราว 200-300 เมตร

เมื่อเกิดเหตุน้ำรั่วไหลคราวนั้น “กุ้งเคยหนีออกห่างจากฝั่ง 30 ไมล์ทำให้ปลาเล็กปลาใหญ่หลายชนิดต้องขยับตามไปด้วย” แม้ว่าช่วงนั้นจะฟื้นฟูทิ้งบ้านปลาตลอดปีที่จะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำกลับคืนมาอยู่ แต่ก็ไร้ผล กลายเป็นห่วงโซ่กระทบต่ออาชีพประมงจับสัตว์น้ำได้น้อยลงตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

...

ทว่าในช่วงเวลา 9 ปีมานี้ “ระบบนิเวศทางทะเลก็กำลังฟื้นตัวขึ้นมา 40%” แต่กลับต้องมาเจอน้ำมันรั่วซ้ำถึง 3 รอบในปี 2565 แล้วเป็นปริมาณน้ำมันดิบไหลออกมาลงทะเลค่อนข้างมากมหาศาลอีกด้วย แล้วยิ่งกว่านั้นไม่เคยถอดบทเรียนเหตุการณ์ปี 2556 กลับระดมฉีดสารเคมีสลายคราบน้ำมันตกลงใต้ทะเลมากมาย

จนต้องตั้งข้อสงสัยว่า “หน่วยงานราชการ” เป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญมีความรู้มากมาย “ไม่มีกระบวนการพิจารณาถี่ถ้วนก่อนการเก็บกู้น้ำมันรั่วครั้งนี้หรือไม่?” ทั้งที่มีประสบการณ์ปี 2556 ก็ไม่ถอดบทเรียนนำมาแก้ไขปัญหาลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่กลับปล่อยให้สารเคมีหลงเหลือตกค้างไปถึงในอนาคตอีก

และมีคำถามสำคัญตามมาอีกว่า “สารเคมีที่ระดมฉีดนั้น” มีหน่วยงานใดจัดเก็บหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีใครจัดการเก็บสารเคมีก็คงตกค้างอยู่ใต้ทะเลเช่นนี้ ย่อมกระทบต่อสัตว์ทะเลทิ้งพื้นที่ย้ายหนีออกไปหากินที่ใหม่อีก...แล้วจะมีหน่วยงานใดสามารถยืนยันได้ว่าสัตว์น้ำย้ายออกไปนั้นจะกลับคืนมาอีกเมื่อใด...

“ตามประสบการณ์ออกทะเลจับปลาทุกวันมาตลอดชีวิต เชื่อว่าน้ำมันรั่วครั้งนี้ต้องใช้เวลาฟื้นฟูระบบนิเวศให้เป็นธรรมชาติสมบูรณ์ไม่ต่ำกว่า 20 ปี ที่จะทำให้สัตว์น้ำย้ายกลับมาหากินพื้นที่นี้ใหม่อีกครั้ง” วีรศักดิ์ว่า

...

จริงๆแล้ว “มาตรการรับมือเหตุน้ำมันรั่วลงทะเล” ภาคประชาชนก็เคยเสนอแผนเผชิญเหตุ และมาตรการป้องกันระยะยาวมาตั้งแต่ปี 2556 ด้วยตั้งคณะกรรมการในนามจังหวัดระยอง ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ นักกฎหมาย ตัวแทนภาคประชาชน ทำหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงนำสู่การวางกรอบการป้องกันอย่างยั่งยืน

ตั้งแต่การออกมาตรการป้องกันตรวจสอบสภาพท่อน้ำมันให้คงสภาพสมบูรณ์อยู่ตลอด ทั้งออกมาตรการควบคุมกรณีเกิดเหตุน้ำมันรั่วต้องมีแผนรองจัดเก็บคราบน้ำมันตามหลักสากล แต่น่าเสียดาย “หน่วยงานภาครัฐ” ไม่เคยสนใจนำมาพิจารณาปฏิบัติจนเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วซ้ำซากอย่างวันนี้

ซ้ำร้ายครั้งนี้กลับ “ตั้งคณะกรรมการตรวจพิสูจน์และสืบหาข้อเท็จจริง” ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการที่มีความรู้เฉพาะสาขาต่างๆ รวมถึงผู้แทนของบริษัทอันเป็นเสมือนผู้กระทำความผิดเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบตัวเอง แล้วอย่างนี้ผลสรุปหลายคนคงน่าจะเดาได้ว่าจะออกมาในรูปแบบใด...

ทั้งที่ควรนำผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ด้วยซ้ำ เพื่อให้ขั้นตอนการตรวจพิสูจน์สืบหาข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นไปตามจริงที่มิใช่ปกปิดข้อมูลกันอยู่อย่างนี้

สุดท้ายขอเรียกร้องให้ “ภาครัฐ” เข้ามาเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นก่อน ในส่วน “บริษัท” ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจริงๆและฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนมาสู่สภาพปกติ เพื่อชาวบ้านหากินได้เหมือนเดิม

ตอกย้ำสะท้อนเสียงชาวบ้านว่า...น้ำมันรั่วมักกระทบสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตทางทะเล ไม่เว้นแม้แต่วิถีชุมชนที่ประเมินค่าไม่ได้ “หน่วยงานภาครัฐ” คือตัวแทนพี่น้องประชาชนต้องทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างโปร่งใสอันเป็นทางเดียวที่จะช่วยป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต...