เป็นกรณีศึกษา...ทันทีที่ ศบค.คลายล็อก ยกแรกเมื่อต้นมิถุนายนปีก่อน หนุนคนไทยเที่ยวข้ามจังหวัดได้...แหล่งที่คนกรุงกรูไปพักผ่อนทะลักปานเขื่อนแตกมากสุด ได้แก่ หาดบางแสน

จะว่าไป...การบริหารงานเทศบาลเมืองแสนสุข อาจต่างกับเทศบาลทุกแห่ง คือนอกจากมีเทศบัญญัติคุ้มครองพื้นที่แล้ว ยังมี “บัญญัติพ่อกำนัน” ที่ชาวบ้านถือเป็นคัมภีร์ปฏิบัติอีกฉบับ

สถิติบางแสนมีผู้ประกอบการ 2,000 ราย ได้แก่ อาชีพให้เช่าสกูตเตอร์ ห่วงยาง เก้าอี้ผ้าใบ ร่มชายหาด นวดแผนไทย รถล้อเลื่อน และหาบเร่แผงลอยขายอาหาร...ทั้งหมดข้างต้นนี้พ่อกำนันสงวนอาชีพให้ชาวท้องถิ่นตัวจริงเฉพาะคน ต.แสนสุข ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ไม่เท่านั้น...บทบัญญัติที่ว่ายังกำหนดให้ธุรกิจทั้งหมด เริ่มลงงานได้เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น จัดเก็บทำความสะอาดให้เสร็จก่อนพระอาทิตย์ตก ต้องไม่เป็นแหล่งมั่วสุมปีศาจสุรายาเมา

ประเด็นน่าสนใจมีอีกว่า “บางแสน” ไม่มีคนเก๊...กล้าลองดีฝ่าฝืน ถิ่นนี้จึงได้ชื่อว่าคือเมืองท่องเที่ยวไร้ปัญหา ด้วยมีการจัดระเบียบพร้อมรับนักท่องเที่ยวเต็มพิกัดทุกมิติ

...

การจัดระเบียบชายหาดบางแสน สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดแทรกแซง จนเกิดนวัตกรรมกระแสนิวนอร์มอล การวางเก้าอี้...ร่ม ทิ้งระยะห่างทางสังคม 1.5 ม. เพื่อป้องกันการติดและแพร่เชื้อ

วัชรพล สารสอน รอง ผอ.ททท.สำนักงานพัทยา บอกว่า บางแสนคือสินค้าท่องเที่ยวคู่คนไทยมาร่วม 77 ปี เกิดกระแสขานรับต่อเนื่องมาทุกยุคสมัย เปรียบได้กับคู่มือหน้าปกการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ...สามารถจับต้องได้ในภาคส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่รูปธรรม

ปี 2560 บางแสนมีผู้มาเยือน 2.72 ล้านคน ปี 2561 เพิ่มขึ้น 4.55% เป็น 2.84 ล้านคน จากคนมาเที่ยวชลบุรี 18.21 ล้านคน ส่วนปี 2562 มาเที่ยวชลบุรี 18.57 ล้านคน เที่ยวบางแสน 2.97 ล้านคน

เฉพาะเดือนมิถุนายนปีก่อนหลังปลดล็อก...มีมาเที่ยวชลบุรี 2.11 แสนคน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่บางแสน ซึ่งมีโรงแรม 55 แห่ง 2,518 ห้อง ชูสัญลักษณ์ “SHA รับรองความปลอดภัย”

เรากำลังวางแผนเดินหน้าโครงการ “เวิร์คเคชั่น” กับหาดแห่งนี้ในช่วงทะเลถูกโควิดปิดหาด โดยเตรียมใช้ถิ่นนี้เป็นห้องทำงานแห่งที่ 2 หลังสถานการณ์รอบสองคลี่คลาย เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มดิจิทัล โนเมดที่นิยมพกพาคอมพิวเตอร์มาพร้อมทำงาน รวมถึงตั้งเป้าเจาะกลุ่มครอบครัว...

“อาศัยลูกๆหลานๆจัดนำผู้สูงวัยในครอบครัว มาย้อนตำนานบางแสนกินอาหารทะเลร้านดั้งเดิม ซึ่งเปิดบริการแบบวินเทจย้อนยุคอยู่หลายแห่ง”

วันนี้...ไทยอาภัพทัวริสต์ต่างชาติ กับขัดสนคนไทยมาท่องเที่ยว จากพิษบ่อนและแรงงานเพื่อนบ้าน จุดไฟ “โควิด-19” ขึ้นมาลามทั่วบ้าน แต่เพราะ...เทศบาลเมืองแสนสุขมีปัจจัยบวก ตรงพื้นฐานการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ สามารถรักษาธรรมชาติทะเลไว้ได้แบบฟินๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกมิติ

รับตลาดไทยเที่ยวไทยอย่างเข้าใจ...ทั้งยังคุ้มครองภูมิทัศน์มุมเมืองได้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น...แทนการฝันปั้นนักท่องเที่ยวกลางอากาศที่เลื่อนลอยหน่อมแน้ม

นี่ต่างหากคือหัวใจการปั้น “กลยุทธ์” สู่ “ยุทธศาสตร์” กู่เรียก “นักท่องเที่ยว” คืนมา...ในเร็ววัน

ฉายภาพใหญ่การท่องเที่ยว องค์การท่องเที่ยวโลกฯ ระบุ...ปี 2562 ประชากรโลกท่องเที่ยวต่างประเทศ 1,461 ล้านคน เงินสะพัด 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทว่าไม่ทันสิ้นปี...“โควิด-19” เฮี้ยนทลายโลก รุกคืบข้ามถึงปี 2563 ทุบท่องเที่ยวโลกสลบเหมือด เศรษฐกิจพังยับ...

...

ฝูงบินพาณิชย์ 23,000 ลำ ปีกหักหยุดบิน...แรงงาน 120 ล้านคนทั่วโลกตกงาน...องค์การท่องเที่ยวโลกฯรีบสรุป 6 เดือนแรกปีนั้น ชาวโลกเดินทาง 233 ล้านคน หดตัว 65%...เมษายน-มิถุนายนมีเพียง 18 ล้านคน...หดตัว 95%

ทฤษฎีโดมิโนพาล้มระเนระนาดถึง “ประเทศไทย” ทำให้ไร้เงาต่างชาติที่เคยมาเที่ยวปีละ 40 ล้านคนหายวับไปกับตา...ไทยซึ่งโลกยกย่องว่าคือฮีโร่ปราบโควิด-19 มือฉมัง เอาเข้าจริง...ก็มีผู้ติดเชื้อสะสม

ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกายอมรับว่า วิกฤตินี้เทใส่ท่องเที่ยวจั๋งหนับให้โลกต้องปิดสวิตช์พักใหญ่

...แต่ท่องเที่ยวเป็นเรื่องอ่อนไหว หยุดวันใดเท่ากับสิ้นลมวันนั้น?

“หนึ่งปีที่ผ่านมา ททท.สำนักงานต่างประเทศ 29 แห่งทั่วโลก เกาะติดสถานการณ์แต่ละตลาดอย่างใกล้ชิด แล้วรายงานความคืบหน้าให้เมืองไทยทราบเป็นระยะ”

ทุกสำนักงานต้องหมั่นทำความเข้าใจกับพันธมิตร ให้ทราบถึงมาตรการคุมเข้มของรัฐบาลไทย เพื่อเตรียมรับตลาดเมื่อทุกอย่างคืนสู่ปกติ...ทั้งที่ยังไม่รู้อนาคต?

...

ส่วนงานด้านตลาดต่างประเทศ ยังต้องทำแข่งกระแสโรคร้าย โดยอาศัย “มาร์เกตเตอร์” คือ “ผู้ขายธุรกิจท่องเที่ยวไทย” กับ “ผู้ซื้อต่างประเทศ” ใช้เวที “เทรด มีท” เจรจาซื้อขายสินค้าบริการกัน

เพื่อจะได้วันดีเดย์ทันทีหลังสงครามโควิด-19 สงบลง

กระนั้น...เมื่อยุทธวิธีเซลส์สัญจรเช่นเคยทำมามีปัญหา การนำโลกไซเบอร์ยุคดิจิทัลไลเซชันมาทำดิจิทัลมาร์เกตติ้ง จึงเหมาะกับการย่อโลกให้เล็กลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ยุคประหยัด

ในปี 2561 ททท.จึงได้พลิกกลยุทธ์การทำตลาดใหม่ เชื่อมกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ ด้วยวิธีจำลองตลาดเสมือนจริง “เวอร์ชวล ทราเวลมาร์ท” สร้างเพจบรรยากาศเมืองไทยกับเปิดเวทีให้มาร์เกตเตอร์ นัดหมายเจรจาธุรกิจผ่านวิดีโอคอล เห็นหน้าตาเหมือนอยู่ในพื้นที่จัดงานจริง

ครั้งนั้นมีผู้ประกอบการไทยร่วมขาย 29 ราย ได้ผู้ซื้อจากอเมริกาเหนือ 246 ราย จับคู่สนทนากับคู่ค้ารายละ 20 นาที โดยเปิดตลาดตามเวลาอเมริกาเหนือ คือสิบเอ็ดโมงถึงบ่ายสอง ตรงกับไทยสามทุ่มถึงเที่ยงคืน

คราวนี้...ปี 2563 เราจะทำกับฝั่งละตินอเมริกา ชื่อ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ เวอร์ชวล เทรด มีท” ให้มาร์เกตเตอร์ไทยจับคู่ผู้ซื้อ 1 ต่อ 20 ราย...รวม 580 นัดหมาย...มีโปรแกรม “ไลฟ์ เว็บบินาร์” ไลฟ์สดเวทีสัมมนาโปรดักส์ท่องเที่ยวไทยกับสินค้าบริการลักชัวรี ให้มาร์เกตเตอร์ขยายผลต่อไป

แม้ว่าเวอร์ชวล มาร์ท 2 ตลาด จะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการรุกตลาดกลางสุญญากาศ แต่นี่คือการ “ทรงตลาด” อย่างมืออาชีพ ไว้รอการเก็บเกี่ยวบนหนทางข้างหน้า...เนื่องจากภูมิภาคอเมริกาเป็นตลาดเจียระไนแล้ว คือมีนักท่องเที่ยวตุนในมือปีละ 1.63 ล้านคนเป็นอย่างน้อย

ขณะเดียวกัน...ปลายปีที่แล้วก็ยังไม่ทิ้งยุทธวิธีทำตลาดจำลอง เพียงแต่ครั้งนี้เจาะตรงสู่มาร์เกตเตอร์กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผ่านจอออนไลน์จากรัสเซีย สหราชอาณาจักร แฟรงก์เฟิร์ต สตอกโฮล์ม ปราก ซึ่งไทยเปิดตลาดเมื่อเวลาหนึ่งทุ่มถึงสี่ทุ่ม ตรงกับยุโรปบ่ายโมงถึงทุ่ม

...

ตั้งหวัง...คาดหวังกันว่า “การท่องเที่ยว” จะฟื้นคืนกลับมาเยียวยาจุนเจือเศรษฐกิจไทยที่กำลังสาละวันเตี้ยลงหนักหน่วง เมื่อฟื้นได้บ้างแล้ว...เศรษฐกิจรากหญ้าจะได้ไม่อับเฉา มีรอยยิ้มได้บ้าง.