ผู้การฉะเชิงเทรา เผยรถไฟชนบัสคณะกฐินตายเพิ่มเป็น 19 ราย โดยพุ่ง 6 ปมเหตุ ไม่คุ้นทาง บรรทุกเกิน เปิดเพลงดัง ทางตัดไม่มีเครื่องกั้น เจอทางลาดชัน และรถไฟหยุดไม่ทัน รวมเงินเยียวยาจ่ายถึง 10 ล้าน

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.63 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองฉะเชิงเทรา พล.ต.ต.ชาคริต สวัสดี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยนางสายขวัญ เกตุดำ ผู้อำนวยการภาคอาวุโส สำนักงานคปภ.ภาค 6 (ชลบุรี) ได้แถลงข่าวข้อมูลต่อสื่อมวลชน จากเหตุการณ์รถไฟชนรถบัส บริเวณจุดตัดรถไฟ สถานีชุมทางคลองแขวงกลั่น ต.บางเตย อ.เมืองฉะเชิงเทรา

พล.ต.ต.ชาคริต เปิดเผยว่า ข้อมูลอัปเดตผู้เสียชีวิต ขณะนี้มีจำนวน 19 ราย จากเดิม 18 ราย สำหรับรายที่ 19 คือ นายปัญญา สีลารัตน์ ได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังจากได้ย้ายตัวไปรักษาที่กรุงเทพมหานครเมื่อช่วงค่ำของคืนที่ผ่านมา ส่วนผู้บาดเจ็บ ณ ขณะนี้ จำนวน 39 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลบ้านโพธิ์ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์และโรงพยาบาลคลองเขื่อน สำหรับอาการหนักๆ ที่อยู่ในห้องไอซียูจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นายสุปัญญา สารีรัตน์, นายฤทธิ์ เวียงคำ และนายจักรพงษ์ ภูครองผา

...

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวต่อว่า ในด้านการวิเคราะห์สาเหตุนั้นเกิดจาก 1. ผู้ขับขี่รถบัสไม่คุ้นชินเส้นทาง โดยเฉพาะจุดตัดรถไฟ 2. ในรถบัสโดยสารมีการเปิดเพลงเสียงดังซึ่งอาจทำให้ผู้ขับขี่ไม่ได้ยินเสียงหวูดรถไฟ 3. จุดเกิดเหตุไม่มีเครื่องกั้นทางรถไฟ แต่มีป้ายเตือนและสัญญาณไฟชัดเจน 4. จุดเกิดเหตุมีลักษณะเป็นทางลาดชัน ผู้ขับขี่ต้องเร่งความเร็วเพื่อขับรถผ่าน 5. ภายในรถบัสโดยสารมีการบรรทุกผู้โดยสารมากกว่าปกติ จึงเร่งเครื่องขึ้นเนินได้ช้ากว่าปกติ และ 6. รถไฟวิ่งมาด้วยความเร็วส่งผลให้ไม่สามารถหยุดรถได้ในระยะกระชั้นชิดได้ทัน

พล.ต.ต.ชาคริต กล่าวอีกว่า ในเรื่องของคดีความนั้น เนื่องจากผู้ขับขี่รถบัสได้เสียชีวิตไปแล้ว ในทางคดีความอาญาคงสิ้นสุดลง แต่ทางแพ่งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บยังคงเรียกร้องจากบริษัทรถบัสคันดังกล่าวได้ ส่วนเงินที่ผู้เสียชีวิตจะได้รับจะมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือเงินจากประกันสังคม จะได้ค่าปลงศพ จำนวน 80,000 บาท ส่วนค่ารักษาตามสิทธิประกันสังคม ในส่วนที่ 2 คือ ประกันภัยจากรถยนต์โดยสารที่มีประกันภัยอยู่คือประกันภัยคุ้มภัยผู้ประสบภัยจากรถ และประกันภัย ประเภทสมัครใจ คุ้มครองประเภท 3

ด้าน นางสายขวัญ เกตุดำ ผู้อำนวยการภาคอาวุโส สำนักงานคปภ.ภาค 6 (ชลบุรี) เปิดเผยว่า โดยประกันภัยประเภทสมัครใจ คุ้มครองประเภท 3 กรณีเสียชีวิตสูงสุด จะได้เงินเยียวยาจำนวน 500,000 บาท ต่อราย ความคุ้มครองต่อครั้งไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง โดยมีสัญญาในการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร กรณีเสียชีวิต 50,000 บาทต่อราย โดยมีค่ารักษา 50,000 บาทต่อวัน โดยในผลคดีทาง คปภ.ยึดตามผลของตำรวจ คือรถบัสประมาท ซึ่งในกรมธรรม์ประกันภัย จะต้องมาจ่ายชดใช้ ในส่วนของ พ.ร.บ.จำนวน 500,000 บาท ต่อคน ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตจำนวน 19 ราย รายละ 500,000 บาท ก็จะเกินจากวงเงินคุ้มครอง 10 ล้านบาท ซึ่งอาจต้องใช้หลักในการเฉลี่ยเงินกันให้ได้ทุกคนในวงเงิน 10 ล้านบาท เบื้องต้นสามารถจ่ายเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ญาติได้ ในส่วนของ 35,000 บาท ก่อน.