พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทาน "ห้องตรวจหาเชื้อ" แห่งที่ 15 ให้ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.63 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน "ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)" ภายใต้ "โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน" ให้กับ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นแห่งที่ 15 โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้ 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อเสริมความพร้อมหากมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่
ซึ่งห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าวมีการแยกพื้นที่ระหว่างทีมแพทย์และคนไข้ออกจากกัน และใช้ระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม พร้อมมีระบบฆ่าเชื้อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยสามารถติดตั้งในพื้นที่จำกัดได้ในเวลาเพียง 3 วัน ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งประชาชนที่มาตรวจรักษา ยังความปลื้มปีติแก่บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
...
โดยพิธีรับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อในครั้งนี้ มี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.ท.วิชัย มนัสศิริวิทยา เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ พล.ร.ต.เกิดศักดิ์ วีระโยธิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ นายเสรี เจตสุคนธร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี แพทย์หญิง ลานทิพย์ เหราปัตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและควบคุมโรค เขต 6 ชลบุรี นายอนุชา อินทศร นายอำเภอสัตหีบ นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเอสซีจี ร่วมพิธีรับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ ณ อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระเมตตาต่อบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อย่างหาที่สุดมิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน "ห้องตรวจหาเชื้อ" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน เพื่อรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ดำเนินการก่อสร้างให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ รวม 20 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ
กองทัพเรือ จังหวัดชลบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่างซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้รับมอบห้องตรวจหาเชื้อที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ นับเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับทางจังหวัด ที่จะนำไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเป็นแนวหน้า เพื่อให้มีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานต่อไป ซึ่งการได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ในครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ อันเป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากพัทยาและโรงพยาบาลใกล้เคียงการตรวจหาเชื้อจากผู้ป่วยเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์
...
จากนั้นเวลา 09.30 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางต่อไปยังอาคารพิเคราะห์และบำบัดโรค เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา และห้องผ่าตัดแรงดันลบ ซึ่งห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยานั้น โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ได้มีการพัฒนาศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการขยายห้องปฏิบัติการในการตรวจยืนยันเชื้อ ด้วยวิธี Real Time RT-PCR ซึ่งเป็นการบริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างที่สงสัยติดเชื้อโดยตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อได้ผลอย่างแม่นยำ สามารถรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการรักษา นับเป็นห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยาที่ได้รับการรับรองในภาครัฐเขตต่างจังหวัด 1 ใน 112 แห่งของประเทศ สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้วันละประมาณ 500 ตัวอย่าง รองรับพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง
...
ในส่วนของห้องผ่าตัดแรงดันลบนั้น เป็นห้องผ่าตัดที่ใช้แยกผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ออกจากผู้ป่วยรายอื่นในโรงพยาบาล มีความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอก ซึ่งตามปกติอากาศจะไหลจากที่ที่มีความดันอากาศสูงกว่าไปหาที่ที่มีความดันอากาศต่ำกว่า นั่นหมายความว่า อากาศภายในห้องผู้ป่วยซึ่งถูกทำให้มีความดันต่ำกว่าจะไม่ไหลออกจากห้องเมื่อมีการเปิด-ปิดประตู และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากในห้องไปสู่บริเวณอื่นๆ ในสถานพยาบาล ซึ่งนอกจากจะป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือเชื้อโควิด-19 ได้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้กับโรคที่ติดต่อทางอากาศได้ เช่น ผู้ป่วยวัณโรคปอด ซึ่งมีโอกาสติดผู้ป่วยคนอื่นๆ และบุคลากรของโรงพยาบาลได้ง่ายหากไม่มีการแยกห้องที่ถูกต้อง.