นายกฯ เดินทางไปเปิด อาคารพักผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เผยหนุนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 3 ถึง 5 ล้านคนต่อปี

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.62 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา จังหวัดชลบุรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารพักผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา โดยมี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนการท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมด้วย พลเรือโท กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้การต้อนรับ


พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ได้เปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2532 รวมระยะเวลา 30 ปี ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี และมีจำนวนเที่ยวบินประมาณ 15,000 เที่ยวบินต่อปี จึงทำให้อาคารพักผู้โดยสารหลังเดิมที่มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพียง 7 แสนคนต่อปี เกิดความแออัด ไม่เพียงพอต่อการให้บริการทั้งแก่ผู้โดยสารและสายการบินพาณิชย์ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสารหลังที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสาร และสายการบินพาณิชย์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของธุรกิจการบินของประเทศ

ผบ.ทร.กล่าวต่อว่า ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงการเดินทางสู่พื้นที่ภาคตะวันออก และสนับสนุนการยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาคตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือโครงการ อีอีซี (Eastern Economic Corridor : EEC) ของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาคารพักผู้โดยสาร หลังที่ 2 แห่งนี้ มีพื้นที่ใช้สอย 30,000 ตารางเมตร สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 3 ถึง 5 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะสามารถให้บริการได้เต็มศักยภาพ จนถึงปีพุทธศักราช 2570 ที่ประมาณการจำนวนผู้โดยสารไว้ว่าจะมีมากกว่า 5 ล้านคนต่อปี

...


ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวต่อไปอีกว่า การท่าอากาศยานอู่ตะเภา ได้ทำการทดสอบใช้งานระบบการให้บริการด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และได้ทดลองเปิดใช้งานอาคารพักผู้โดยสารหลังที่ 2 อย่างเต็มรูปแบบมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 62 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินการปรากฏว่าอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือ การสนับสนุนและการให้คำแนะนำต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ที่ช่วยสนับสนุนและให้คำแนะนำในการดำเนินการต่างๆ ส่งผลให้การเปิดใช้งานอาคารพักผู้โดยสารหลังที่ 2 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอย่างดียิ่ง

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ซึ่งภายหลังเสร็จพิธี ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เรียนเชิญ นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ภายในอาคารพักผู้โดยสารหลังที่ 2 ประกอบด้วย ห้องผู้โดยสารขาเข้าในประเทศ โถงผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ร้านค้าภายในท่าอากาศยาน และโถงผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ

ด้าน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเล็งเห็นว่าการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางรางและทางอากาศ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่าอากาศยานอู่ตะเภาได้รับการพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์มายาวนานกว่า 30 ปี และได้มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการเติบโต จึงทำให้เกิดนโยบายพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ


พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารและขณะเดียวกันยังได้เตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ ให้ครอบคลุมและสามารถรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมการบินของประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แผนงานระยะต่อไป รัฐบาลได้มีแผนในการยกระดับท่าอากาศยานแห่งนี้ ให้เป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน ภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) ควบคู่ไปกับการพัฒนาการขนส่งทางราง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทั้ง 3 สนามบินหลักของประเทศไทยผ่านทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยมีเป้าหมายให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 60 ล้านคนต่อปี

...


อนึ่ง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง - พัทยา มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับทุกความต้องการของผู้โดยสาร เชื่อมโยงและสนับสนุนการเดินทาง การขนส่งทางอากาศ เพื่อให้พร้อมเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศไทย ภายในอาคารผู้โดยสารแห่งนี้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 1,200 คนต่อชั่วโมง ที่เดินทางทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ โดยมีความพร้อมในการให้บริการทุกด้าน ทั้งร้านค้าปลอดอากร ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้า

รวมถึงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ลานจอดรถ หลังคาคลุมทางเดิน และอาคารคลังสินค้าหลังใหม่ อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิและเป็นศูนย์กลางด้านการบินหลักในภูมิภาคนี้.