"เขื่อนเจ้าพระยา" ระบายน้ำแตะ 1,500 ลบ.ม./วินาที ครบสัปดาห์ เตรียมรับน้ำเหนือที่จะไหลมาสมทบ สำรวจ "ผัก" ในตลาด พาเหรดขึ้นราคา ส่วนถั่วฝักยาวสุดพีค ดิ่งสุดใน 5 ปี เหลือคาแผงเพียบ

วันที่ 9 ก.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ทางด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะไหลลงมาสมทบ พร้อมตรึงการระบายที่ 1,498 ลบ.ม./วินาที เป็นวันที่ 7 ครบ 1 สัปดาห์ เพื่อเตรียมรองรับมวลน้ำเหนือที่จะลงมาสมทบ ตามแผนกรมชลประทาน ประกอบกับช่วงสัปดาห์นี้จะมีฝนตกหนักปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนระดับน้ำในช่วงนี้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจุบันสถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,430 ลบ.ม./วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 15.90 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 12.82 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 3.52 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 1,498 ลบ.ม./วินาที

...

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตลาดสดภาษีซุง ตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชัยนาท เพื่อตรวจสอบราคาผัก ซึ่งทางนางสาวรุ้งทิพย์ อ่ำยศ อายุ 34 ปี เผยว่า ราคาผักที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด คือ แตงกวา หัวไชเท้า คะน้า ที่เห็นชัดเจนคือหัวไชเท้า ตอนนี้ขายอยู่ที่ถุงละ 10 กิโลกรัม 180 บาท หัวใหญ่ถุงละ 10 กิโลกรัม 210 บาท ก่อนหน้านี้ขายราคากิโลกรัมละ 15-25 บาท ตอนนี้ขาย 25-35 บาท ขึ้นมา 5-10 บาท แถมไม่สวย ลูกค้าก็ไม่ซื้อไปใช้กัน

ส่วนแตงกวาก็ขึ้นมาจาก 130-150 บาท ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 170-180 บาท คะน้าก็ขึ้นจาก 30 บาท เป็น 50 บาท เป็นเพราะสถานการณ์น้ำท่วมเป็นปัจจัยสำคัญ อากาศก็เปลี่ยนทำให้ผลผลิตไม่ดีเท่าแต่ก่อน แต่ผักที่ล้นตลาดและราคาดิ่งลงแบบสุด ๆ ถูกสุดในรอบ 5 ปี คือ ถั่วฝักยาว มัดละ 5 กิโลกรัม จากมัดละ 150 บาท เหลือมัดละ 100 บาท ลดลงมาถึง 50 บาท ขายไม่เคยหมดเหลือคาแผงตลอด เพราะอากาศเหมาะกับถั่วฝักยาว แถมปลูกง่าย ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตชนกันจนล้นตลาด.