พระนครศรีอยุธยา - หลายพื้นที่ในอำเภอบางบาลยังจมใต้น้ำ บางจุดสูงประมาณ 1 – 1.5 เมตร หลังปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ชาวบ้านต้องออกมาอยู่เต็นท์จอดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ นอนเฝ้าทรัพย์สิน เผยท่วมทุกปีจนชินแล้ว

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนในอัตราที่ 1,498 ลบ.ม./วินาที ส่งผลทำให้แม่น้ำน้อย ซึ่งรับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ไหลผ่านอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำยังคงท่วมสูงในหลายพื้นที่

โดยพบว่าที่ตำบลทางช้าง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นตำบลแรกๆ ที่ถูกน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม ระดับน้ำจากแม่น้ำน้อยที่ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนริมแม่น้ำหลายสิบหลังคาเรือน บางจุดสูงประมาณ 1 – 1.50 เมตร ข้าวของเครื่องใช้และรถยนต์ รถจักรยานยนต์ต้องขนเอามาไว้ริมถนนและจัดเวรยามมานอนเฝ้าระวังในช่วงกลางคืน

นายบุญชอบ ฉัตรธรรม อายุ 53 ปี ชาวบ้าน เปิดเผยว่า น้ำท่วมมาแล้วประมาณ 10 กว่าวัน น้ำยังคงขึ้นเรื่อยๆ คืนหนึ่งประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร ขึ้นทุกคืน ชาวบ้านก็ต้องใช้เรือเป็นยานพาหนะเข้าออก ตอนนี้ต้องมาอยู่บนถนน เพราะอยู่ในบ้านตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่นั่งมองน้ำ ต้องออกมานั่งข้างนอกพบปะพูดคุยกัน แก้เครียด

...

รวมถึงเฝ้าทรัพย์สินที่นำมาไว้ริมถนน ทั้งข้าวของเครื่องใช้บางส่วน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เดี๋ยวตอนเย็นคนงานที่ไปทำงานกลับมาก็มาจอดกันอีก กลางคืนก็ให้ลูกชายมานอนเฝ้า เพราะน้ำขึ้น ท่วมใหม่ๆ พวกมิจฉาชีพ โจร ชอบขโมยมอเตอร์ไซค์ ก็ยังกลัวกันต้องมาเฝ้ากัน แม้จะมีการล็อกโซ่ หากหลัง 15 กันยายนนี้ ปล่อยน้ำเข้าท่วมก็จะค่อยยังชั่วบ้าง เพราะเมื่อปี 56 มิดหลังคาโรงรถตนเองเลยทีเดียว ถ้าปล่อยก็ยังค่อยยังชั่วหน่อย ท่วมทุกปีจนชินเสียแล้ว ปีที่แล้วก็ท่วมประมาณหน้าอก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังเขื่อนเจ้าพระยายังคงมีการระบายอยู่ที่ 1,498 ลบ.ม./วินาที ยังคงส่งผลให้ปริมาณน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม ได้รับผลกระทบจำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอบางไทร อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน และอำเภอบางปะหัน