ใครจะไปคิดว่า “มะขามเทศ” พืชเศรษฐกิจท้องถิ่น ที่ชาวบ้านปลูกเป็นอาชีพเสริมรายได้ ปัจจุบันจะกลายเป็นพืชหลักทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่นิคมสหกรณ์ห้วยขมิ้น ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โดยการ สนับสนุนของสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด

“สหกรณ์เรามีสมาชิก 2 พันราย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ปลูกอ้อยข้าวโพด มันสำปะหลัง และทำสวนมะขามเทศ เมื่อก่อนปลูกมะขามเทศเป็นอาชีพเสริม เดี๋ยวนี้เป็นอาชีพหลักแล้ว เพราะมีรายได้ดีกว่าปลูกข้าวโพด ทำไร่มัน”

นางสาวบุษยพรรณ อินยา ผู้จัดการสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด เผยว่า ด้วยสภาพพื้นที่แห้งแล้งกันดาร ขาดน้ำในฤดูแล้ง ต้องพึ่งพาน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เก็บเกี่ยวผลผลิตพืชหลักได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย มีแต่มะขามเทศเท่านั้นที่พอจะให้ผลผลิตในพื้นที่แห้งแล้งได้ และหลังจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายสนับสนุนระบบน้ำในไร่นาแก่สมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศเมื่อปี 2563-64 ด้วยการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 แก่สถาบันเกษตรกรผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้แก่สมาชิกนำไปใช้เจาะบ่อน้ำ ขุดสระและพัฒนาระบบน้ำในแปลงเกษตรกรรม

...

“เมื่อได้น้ำมาเพิ่มเติมความชุ่มชื้นให้กับผืนดินที่แห้งแล้ง มะขามเทศที่เคยเป็นแค่อาชีพเสริมยิ่งให้ผลผลิตเต็มที่ มีพ่อค้าจากตลาดไทและตลาดสี่มุมเมืองเข้ามารับซื้อผลผลิตถึงที่ ให้ราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท จูงใจให้สมาชิกหันมาปลูกมะขามเทศกันเยอะมาก รายละ 30-100 ต้น บางรายเลิกปลูกมัน ปลูกข้าวโพด หันมาปลูกมะขามเทศอย่างเดียว โดยทางสหกรณ์เข้าไปส่งเสริม สนับสนุนเงินกู้ปีต่อปี ส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษาไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ส่วนอาชีพเสริมอื่นที่เราเข้าไปส่งเสริม มีการเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกพืชผักสมุนไพร ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสมาชิกแต่ละราย ทำให้การชำระหนี้ของสมาชิกไม่มีปัญหา ตอนนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ส่งเงินคืนได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด”

ผู้จัดการสหกรณ์นิคมด่านช้างบอกอีกว่า ตอนนี้มีธุรกิจสินเชื่อปล่อยกู้ทำรายได้มากที่สุด สมาชิกที่กู้ส่วนใหญ่ใช้คนค้ำกันเอง ปีนี้ ปล่อยไปแล้ว 37.7 ล้านบาท อายุการชำระหนี้ขึ้นอยู่กับประเภทเงินกู้ มีทั้งระยะสั้นปีต่อปี หรือระยะกลาง 3-4 ปี

...

“นอกจากนี้เรามีธุรกิจปั๊มน้ำมัน ขายเฉพาะดีเซลใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และยังมีธุรกิจรวบรวมผลผลิตคือมันสำปะหลัง เราไม่มีลานมันเป็นของตัวเอง แต่รอบๆสหกรณ์มีลานมันเอกชนเยอะ เราเลยประสานไปยังเจ้าของลานมันให้เปิดโควตาไว้บริการสมาชิก ใกล้ที่ไหนให้ไปส่งลานมันที่นั่น และเมื่อสมาชิกนำผลผลิตไปส่งโรงงานแล้วทางโรงงานจะออกใบรับซื้อวัตถุดิบให้ สมาชิกสามารถนำใบรับซื้อวัตถุดิบนั้นมาเบิกเงินที่สหกรณ์ได้ในทันที โดยไม่ต้องรอเงินจากโรงงาน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายวัน เราเป็น สหกรณ์เล็กๆ ปีนี้สหกรณ์เพิ่งปิดงบไปเมื่อเดือนที่แล้ว (มิถุนายน) มีกำไรแค่หลักแสน แต่กำไรไม่ใช่เป้าหมายหลัก สิ่งสำคัญคือการดูแลสมาชิก”.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม