สมุทรปราการ ชาวบ้านฮือฮาขุดพบกรุพระพุทธรูปโบราณจำนวนมาก ถูกฝังใต้ฐานพระประธานวัดทรงธรรมวรวิหาร ย่านพระประแดง คาดเป็นพระพุทธรูปสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 และอยู่ใต้ฐานนี้มาเป็นเวลามากกว่า 100 กว่าปี
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 22 มิถุนายน 2567 ทางด้าน ร.ต.ท.ประสาน เคียงไธสง รอง สวป.สภ.พระประแดง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าตรวจสอบภายในพระวิหาร วัดทรงธรรมวรวิหาร ต.ตลาด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
สืบเนื่องจากพระวิหารดังกล่าว อยู่ระหว่างการบูรณะ และภายในพระวิหาร มีหลวงพ่อพระพุทธทรงธรรม เป็นพระประธาน และมีรอยพระพุทธบาทจำลอง เพื่อให้ชาวบ้านได้มากราบไหว้สักการะ และพระวิหารนี้มีอายุมานานมากกว่า 100 ปี สภาพพระวิหารเกิดการชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนทางวัด โดยท่าน พระราชพัฒนสุนทร รองเจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร ได้มีการปรับปรุงบูรณะพระวิหาร โดยได้รับการควบคุมดูแลโดยกรมศิลปากร
จนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 ทางผู้รับเหมาและเจ้าหน้าที่ศิลปากร รวมถึงทางวัดทรงธรรมวรวิหาร ได้ทำการอัญเชิญ พระพุทธรูป และพระพุทธบาทจำลอง ออกจากภายในพระวิหาร เพื่อจะทำการบูรณะภายในพระวิหารและทำฐานชุกชี และทำการเจาะไปในฐานพระพุทธหลวงพ่อทรงธรรมและพระพุทธบาทจำลอง จึงพบพระพุทธรูปอยู่ภายในฐานทั้ง 2 จุด จากนั้นทางเจ้าอาวาส เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เข้าไปตรวจสอบ พบว่ามีพระพุทธรูปที่อยู่ใต้ฐานเป็นจำนวนมาก มีทั้งพระพุทธรูปตั้งแต่ขนาด 9 นิ้วลงมาจนถึงพระพุทธรูปขนาดเล็ก คาดว่าจะเป็นพระพุทธรูปสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 และอยู่ใต้ฐานนี้มาเป็นเวลามากกว่า 100 กว่าปี ทางวัดและทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้มีมตินำพระพุทธรูปดังกล่าวขึ้นมา โดยเห็นรวมๆ พระพุทธรูปที่พบไม่ต่ำกว่า 500 องค์ ทั้งที่ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถบูรณะได้ ในส่วนที่สามารถบูรณะได้จึงอัญเชิญเพื่อนำขึ้นมาบูรณะ และจะจัดเก็บไว้ภายในวัดก่อนเบื้องต้น เพื่อรอเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรผู้ชำนาญการมาตรวจสอบอีกครั้ง
...
พระราชพัฒนสุนทร รองเจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร กล่าวว่า พระวิหารกำลังบูรณะ ภายใต้กรมศิลปากร ซึ่งให้งบประมาณทางวัดมาประมาณ 70% และอีก 30% ของทางวัด และจะมีญาติโยมร่วมทำบุญบริจาคในการซ่อมแซมขึ้นมา มีเจตนาในการเสริมฐานองค์พระประธาน เพราะทางพระประธานเก่าจะต่ำไปหน่อย พอเสริมขึ้นไปเรียบร้อยแล้วรู้สึกว่าช่างได้ทำการกะเทาะ และไปเจอพระที่อยู่ใต้ฐานขององค์พระประธาน ที่เสียหายไปก็เยอะ ก็ให้อยู่ที่เก่าไป ส่วนอันที่ดีๆ อยู่ทางวัดก็ได้พิจารณาว่าจะเก็บขึ้นมา เพราะว่าถ้าอยู่ตรงนั้นต่อไปก็จะเกิดความชื้น จะนำความเสียหาย
ในอดีตก็จะคิดว่าอยู่อย่างนั้นดี ยุคนั้นอาจจะดีจริงแต่พอมาถึงยุคนี้แล้ว เศษหินปูนทรายพวกนี้เขาจะดูดซึมความชื้นขึ้นมาและนำความเสียหายตรงนี้ เมื่อนำขึ้นมาแล้วก็จะรอทางกรมศิลป์ให้ลองมาดูอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วทางวัดก็จะได้เก็บให้คนรุ่นหลังได้ดูต่อไปว่าพระรุ่นนี้เป็นรุ่นอะไร เพื่อในภายภาคหน้า เพราะในวันข้างหน้าอาจจะลำบากต้องเก็บไว้ เพราะลูกๆ หลานๆ จะได้เห็นแล้วปลื้มปีติ ปลื้มใจ ว่ายังมีวัตถุที่ทรงคุณค่าอยู่ในเขตของอำเภอพระประแดง วิหารดังกล่าวสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเมตตาพระอุโบสถและนำพระประธานมาประดิษฐานในพระอุโบสถ และในพระอุโบสถในยุคนั้น สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 จะมีพระประธานในอุโบสถ 2 องค์ แม้ว่าองค์สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงนำพระประธานมาใหม่ พระประธานองค์เก่าก็เลยถูกอัญเชิญออกมาตั้งในพระวิหารนี้ และพระประธาน 2 องค์ในวิหารตรงนั้นในยุคนั้นเป็นพระไม้แกะสลักทั้ง 2 องค์เลย ซึ่งเก็บมาตั้งนานแล้ว ไม่มีใครได้รู้
ต่อมาระยะหลังก็ได้สืบจนรู้ว่าเป็นพระประธานไม้ 2 องค์ ก็เลยจะทำการบูรณะต่อไป และประดิษฐานตรงวิหารต่อไปข้างหน้า วัดทรงธรรมดั้งเดิมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 ในยุคนั้น สร้างใน พ.ศ. 2358 จะเป็นรามัญนิกาย แต่ในปัจจุบันที่อนุรักษ์ไว้ก็ยังเป็นรามัญยุคเดิม เพราะว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และรัชกาลองค์ปัจจุบันได้ถวายผ้าพระกฐิน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2517
...
พระครูพัชรวีราภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร กล่าวว่า ภายในวิหารได้มีการซ่อมหรือบูรณะ ตามสัญญาของกรมศิลปากรเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว แต่ทางท่านเจ้าอาวาสได้เล็งเห็นว่าตำแหน่งที่ตั้งขององค์พระประธาน ยังไม่สง่า คือถ้าเข้ามาแล้วก็จะเจอพระเลย แล้วพระพุทธรูปเป็นสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เลยอยากจะตั้งขึ้นแท่นให้ดูสง่าหน่อย จึงปรึกษากับทางกรมศิลปากรว่าอยากจะทำฐานให้ดูสูงขึ้น ซึ่งท่านเจ้าคุณก็บอกว่ายกขึ้นมาอีกหน่อยได้ไหม เพื่อให้ท่านดูสง่า เมื่อญาติโยมเดินเข้ามาแล้วเจอพระ จะได้รู้สึกสงบ รู้สึกปีติ แล้วจะได้อัญเชิญพระประธานองค์เดิมของวัดทรงธรรม ที่เป็นไม้ทั้งคู่มาประดิษฐานพร้อมกันเลยทีเดียวที่นี่ ก็เลยทำการบูรณะแล้วทำฐานชุกชี
...
ปรากฏว่าตอนที่สกัดพื้นผิวชั้นล่าง ซึ่งผิวเดิมเป็นหินขัดต้องสกัดแล้วก็ก่อเพื่อทำใหม่ จึงไปเจอด้านซ้ายและด้านขวาว่าเป็นหลุมที่บรรจุพระเอาไว้ ก็คุยกันว่าจะเปิดไหม จะขออนุญาตว่าให้เปิด ทางกรมศิลปากรก็เลยเปิด ปรากฏว่าเปิดออกมาได้พบพระพุทธรูป ขนาด 3 นิ้ว 5 นิ้ว 9 นิ้ว ไล่ขึ้นไปตามลำดับ มีทั้งนั่ง ทั้งยืน ถูกบรรจุเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีพระองค์เล็กๆ ที่เป็นพระดินดิบ คาดว่าสมัยก่อนปั้นเสร็จแล้วก็จะทาสีเงินและสีทอง แล้วบรรจุเอาไว้ ซึ่งเมื่อเจอความชื้นก็จะเกิดความเสียหายจำนวนมาก
สำหรับพระองค์ใหญ่ซึ่งจะเป็นโลหะบ้าง เป็นสัมฤทธิ์บ้าง เป็นทองเหลืองบ้าง เมื่อเกิดความชื้นก็จะเกิดเป็นสนิมสีเขียว ก็ได้อัญเชิญท่านขึ้นมา ส่วนที่เหลือก็จะเป็นพระพุทธรูปที่มีความเสียหาย เช่น เท้าไม่อยู่บ้าง เศียรหายบ้าง คือไม่สามารถที่จะซ่อมแซมอะไรได้ ส่วนองค์ที่เหลือ ท่านก็นำไปเก็บไว้ในตู้กระจก ภายในกุฏิของท่าน เพื่อให้ญาติโยมได้มาเห็นว่าพระพุทธรูปที่นำขึ้นมานั้นยังอยู่ ในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนนี้ ญาติโยมจะได้มากราบไหว้บูชา ส่วนใต้ฐานพระพุทธบาทจำลอง เมื่อสกัดอีกก็เจออีก ส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปหน้าตัก 9 นิ้ว ประมาณ 3 องค์ และมีรูปยืนอีก 1 รูป เท่ากับว่าเราค้นพบได้ 3 จุด ในพระวิหารที่กำลังมีการบูรณะแห่งนี้
...