ตำรวจไซเบอร์เปิดปฏิบัติ การ “แองเจิล อาย” จับกุมคดีอาชญากรรมทางออนไลน์ 3 คดี รายแรกรวบหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อธนาคารดัง แอบขายข้อมูลลูกค้าเครดิตดีให้แก๊งมิจฉาชีพ ครั้งละ 3-5 พันรายชื่อ ราคารายชื่อละ 1 บาท ทำมานานร่วม 2 ปี มีเงินเข้ากระเป๋าเดือนละหลายหมื่นบาท คดีต่อมาตะครุบสาวหลอกพาเหยื่อไปทำงานแก๊งคอลฯฝั่งปอยเปต แถมให้เปิดบัญชีม้าไว้หลอกโอนเงิน คดีสุดท้ายทลายเครือข่าย 2 เว็บพนัน ล็อกตัวผู้ต้องหาพร้อมทรัพย์สินอื้อ ด้าน ผบช.สอท.ยันยังไม่พบข้อมูลและไม่เคยมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความ กรณีโทร. 2 นาทีถูกดูดเงินเกลี้ยงบัญชี

ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ก.พ. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผอ.สำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการตามยุทธการ “แองเจิล อาย” จับกุมคดีอาชญากรรมทางออนไลน์ 3 คดี

คดีแรก พ.ต.อ.ฐาปกรณ์ หนุมาศ ผกก.3 บก.สอท.5 พ.ต.ท.ปฐมพงศ์ มีอยู่ รอง ผกก.3 บก.สอท.5 นำหมายค้นศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 116/2567 ลงวันที่ 6 ก.พ.67 จับกุมนายสุวรรณ มาตรนอก อายุ 42 ปี หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 506/2567 ลงวันที่ 6 ก.พ. ได้หน้าบ้านเลขที่ 67/693 หมู่บ้านพระปิ่น 3 ซอย 11 หมู่ 17 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี แจ้งข้อหา “ล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลผู้อื่นจากการปฎิบัติหน้าที่ และนำไปเปิดเผยแก่ผู้อื่นทำให้เสียหาย, ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ของผู้อื่นโดยไม่ชอบ” เป็นความผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

...

สอบสวนนายสุวรรณให้การรับสารภาพว่า นำข้อมูลลูกค้าของสถาบันการเงินที่ตนทำงานอยู่ มาดัดแปลงแก้ไขและนำไปจำหน่ายต่อให้กับกลุ่มที่สนใจ อาทิ ตัวแทนสินเชื่อ ตัวแทนประกัน บางกรณีตกไปอยู่ในมือของกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ จะเก็บข้อมูลลูกค้าจากการจดบันทึกและจัดทำเป็นไฟล์เอกสารแล้วนำไปจำหน่ายต่อให้กับกลุ่มนายหน้าประกัน นายหน้าสินเชื่อของสถาบันการเงินอื่น ไม่ถูกขั้นตอนของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะทยอยนำรายชื่อลูกค้าครั้งละ 3,000-5,000 รายชื่อ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเครดิตดี ไปขายต่อในราคารายชื่อละ 1 บาท มีรายได้เพิ่มเติมในแต่ละเดือนหลักหลายหมื่นบาท ทำเช่นนี้มากว่า 1-2 ปี ตำรวจตรวจค้นในบ้านพบคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์มือถือที่เก็บไฟล์ข้อมูลของลูกค้าที่ซื้อขายข้อมูลมาจากบุคคลอื่นและข้อมูลลูกค้าที่ผู้ต้องหาเก็บไว้

คดีต่อมา พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒิ ผกก.4บก.สอท.2 นำกำลังจับกุม น.ส.กัญญาณี ยอดสร้อย อายุ 24 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ จ.23/2567 ลงวันที่ 8 ก.พ.67 ในความผิด “เป็นธุระจัดหาโฆษณาหรือขายข่าวโดยประการใดๆเพื่อให้มีการซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืมบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นๆ” คุมตัวได้บริเวณด่านพรมแดนคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หลังออกอุบายชักชวนคนไปทำงานออนไลน์ ให้เปิดบัญชีธนาคาร แต่กลับหลอกไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ส่วนบัญชีธนาคารที่เปิดไว้นั้น ถูกนำไปเป็นบัญชีม้าของขบวนการดังกล่าว ภายหลังผู้เสียหายได้หลบหนีมาได้ ได้เข้าแจ้งความจนนำไปสู่การจับกุม

คดีที่สาม ชุดสืบสวน กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.2 เข้าทลายเว็บพนันออนไลน์ 2 เครือข่าย คือ ramruy.net และ pok9.com ผู้ต้องหา 26 ราย จับกุมแล้ว 4 คนอยู่ในเครือข่ายเว็บ ramruay.net มีนายพงษ์พิชญ์ แสงสง่าพงษ์ อายุ 54 ปี ผู้รับผลประโยชน์ นายดิลก เล็งสืบผล อายุ 38 ปี ผู้จัดการด้านการเงิน นายฉันทกร มลาเช็ด อายุ 26 ปี ผู้จัดการด้านการเงิน และนายชาญชัย ใหม่ละออ อายุ 24 ปี ผู้จัดการด้านการเงิน ส่วนในเครือข่ายเว็บ pok9.com จับผู้ต้องหา 1 คน คือนายดิว แสนคำเป็ง อายุ 33 ปี ผู้จัดการด้านการเงิน ทั้งสองเครือข่ายจะแบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่กลุ่มรับผลประโยชน์ ทำหน้าที่จัดการเรื่องการเงิน บัญชีม้า ตลอดจนแอดมินเพจ ยึดของกลางและทรัพย์สิน อาทิ เงินสดกว่า 18 ล้านบาท รถยนต์ 2 คัน รถ จยย.2 คัน กระเป๋าแบรนด์เนม 11 ใบ เครื่องประดับ นาฬิกาหรู โน้ตบุ๊ก สมุดบัญชีธนาคารรวมมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ทั้งสองเว็บมีกลุ่มลูกค้า 140,000 ราย มีเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 300 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่เพจสายไหมต้องรอด พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงให้ไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา แล้วหนีกลับมาได้มาพบตำรวจ บก.สอท.1 ให้ข้อมูลอ้างว่าแก๊งมิจฉาชีพใช้เครื่องมือช่วยแฮ็กในราคา 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 4 เครื่อง ช่วยก่อเหตุเพียงแค่โทรศัพท์ในเวลา 2 นาที สามารถดูดเงินเหยื่อได้นั้น พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.กล่าวว่า จากการรับแจ้งความหรือรับเรื่องร้องเรียนกว่า 4 แสนราย ยังไม่พบว่าในประเทศไทยมีพฤติการณ์ที่เหยื่อถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ส่วนเครื่องมือดังกล่าวก็ยังไม่เคยมีปรากฏในแผนประทุษกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพราะในความจริงแล้ว ถ้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีข้อมูลเพียงพอที่จะสวมรอยเป็นเหยื่อได้ คงไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์มาพูดคุยเพื่อใช้เครื่องดังกล่าวในการแฮ็กข้อมูลแต่อย่างใด ยอมรับว่าข้อมูลดังกล่าวที่ผู้เสียหายนำมาเปิดเผยยังเลื่อนลอย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนอยู่พอสมควร

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่