"พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานบอร์ด ทอท." ฝากการบ้าน สตม.เร่งหาทางแก้ไข หลังเกิดเหตุ ระบบ ตม.ล่ม ย้ำต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก ชี้สนามบินเป็นหน้าตาของประเทศ ถ้าระบบไม่ดีไม่ว่าจุดใด ก็เสียหายต่อภาพลักษณ์ทั้งด้านการท่องเที่ยว-ลงทุน 

จากกรณีสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเปิดเผยเหตุระบบ ตม.ล่ม กระทบต่อปริมาณผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะขาออก ซึ่งผู้โดยสารต้องรีบขึ้นเครื่องในช่วงเวลาจำกัด ตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 24 มกราคม 2567 จนเที่ยง ก็ยังคงติดขัดอยู่นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 12.50 น. วันที่ 24 มกราคม 2567 พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ได้ลงพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อตรวจสอบเหตุดังกล่าว พร้อมด้วย ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT และนายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้เดินตรวจพื้นที่ ตม.ขาออก และ ขาเข้า ตม.

พล.ต.อ.วิสนุ เปิดเผยว่า ตนได้รับบัญชาจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เร่งลงมาตรวจสอบและติดตามการแก้ปัญหา พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติเป็นการเร่งด่วน 

...

เบื้องต้นได้รับรายงานจาก พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (ผบก.ตม.2) ว่า ระบบตรวจคนเข้าเมือง (Biometrics) เกิดขัดข้องตั้งแต่ เวลา 04.30 น.ของวันที่ 24 มกราคม 2567 เกิดความหน่วงที่คอมพิวเตอร์ช่องตรวจ ตม. ส่งผลให้การตรวจหนังสือเดินทางใช้เวลามากกว่าปกติ จากเดิมใช้เวลานับแต่ยื่นหนังสือเดินทางให้เจ้าหน้าที่จนตรวจสอบ และประทับตราเสร็จไม่เกิน 45 วินาทีต่อคน กลับต้องใช้เวลากว่า 1 นาทีต่อคน 

ในขณะที่ระบบส่งผลต่อช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ Automatic channels ไม่สามารถตรวจได้ ทำให้ในช่วงเวลาที่มีเที่ยวบินขึ้นลงหนาแน่น โดยเฉพาะผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเกิดการสะสมอย่างรวดเร็ว แถวยาวล้นมาถึง จุดตรวจค้นสัมภาระอย่างรุนแรง โดยทางศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งควบคุมระบบเทคโนโลยีดังกล่าว ได้เร่งแก้ไขโดยด่วน 

ขณะเดียวกัน ทาง ผบก.ตม.2 ได้สั่งการให้ ตม.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด แก้ปัญหาตามแผนเผชิญเหตุกรณีระบบล่มตามรหัส Com Down โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วยระบบ Manual และใช้ระบบ APPS ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คัดกรองบุคคลที่อาจมีหมายจับ และ overstay เพื่อเร่งระบายผู้โดยสารโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการขึ้นเครื่อง ทำให้ความหนาแน่นเริ่มคลี่คลาย แต่ยังสะสมต่อเนื่อง 

พล.ต.อ.วิสนุ จึงได้แนะนำทาง ตม.2 ให้ปรับวิธีการบันทึกแบบ manual โดยใช้ภาพถ่ายเพื่อให้เร็วขึ้น และให้ทาง AOT จัดพนักงานสนับสนุนอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เช่น แจกจ่ายน้ำดื่ม และช่วยคัดแยกผู้โดยสารที่เสี่ยงขึ้นเครื่องไม่ทัน เพื่อจัดช่อง priority ตรวจหนังสือเดินทางก่อนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 

ทั้งนี้ ปัญหาการอำนวยความสะดวก ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ เพราะสนามบินสากลเป็นหน้าตาของประเทศ ถ้าระบบไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นจุดใด ก็เสียหายต่อภาพลักษณ์ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน ในส่วนของระบบเทคโนโลยีของ สตม.ก็ฝากให้ทาง สตม.เร่งหาทางแก้ไข ทั้งในระยะเร่งด่วน และการพัฒนาระยะยาว ไม่ควรเกิดข้อขัดข้องเช่นนี้อีก พลตำรวจเอกวิสนุ กล่าว 

โดยได้รับรายงานว่า ระบบ ตม.สามารถกลับมาใช้งานปกติได้แล้ว เมื่อเวลา 13.30 น.