ปีมะโรงหรืองูใหญ่ ตามความเชื่อของไทยมะโรงก็คือ “พญานาค” ขณะที่ทางศาสตร์ของจีนมะโรงคือมังกร ที่ต่างเป็นสัตว์กึ่งเทพที่มีอิทธิฤทธิ์ด้วยกันทั้งคู่ และอาศัยอยู่ในน้ำเหมือนกัน ส่วนคติความเชื่อของญี่ปุ่นเรียกปีมะโรงว่าปีทัตสุ
ผู้ที่เกิดปีมะโรงนับว่าโชคดีมากที่สุดในบรรดานักษัตรทั้ง หลาย ด้วยสัญลักษณ์ของปีมะโรงคือ “พญานาค” จึงแสดงถึงความมีอำนาจ และสัญลักษณ์ของพญานาคยังหมายถึงน้ำ น้ำหมายถึงชีวิต ความอุดมสมบูรณ์
ในโอกาสปีมะโรงทีมข่าวเกษตรไทยรัฐ จึงขอนำเสนอเรื่องราวของมนุษย์ ที่น่าจะเป็นหนึ่งเดียวในไทย ที่ผูกพันกับงูใหญ่มาทั้งชีวิต เรียกได้ว่าคุ้นเคยกับงูใหญ่มาตั้งแต่เกิด โดยเฉพาะงูเหลือมและงูหลาม จนได้จารึกชื่อเป็นบุคคลแรกๆของประเทศ ที่ศึกษาและเพาะเลี้ยงงูเหลือม งูหลามสำเร็จ ได้ลายและสีสันหลากหลายแปลกใหม่แตกต่างจากธรรมชาติตัวแรกของไทย โดยเฉพาะลายลูกปัดสยาม ที่ได้บันทึกในหนังสือบันทึกไทย หรือ THAILAND BOOK OF RECORDS
ฤกษ์ฤทธิ์ ศิลปอลังการ แห่งบ้านงูยิ้ม ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เล่าว่า คุณพ่อชอบเลี้ยงงูเหลือม งูหลาม และสัตว์แปลก มาตั้งแต่จำความได้ เพราะคุณพ่อเชื่อว่างูใหญ่เป็นลูกหลานพญานาค เลยคุ้นเคยกับสัตว์พวกนี้มาทั้งชีวิต ส่วนใหญ่ที่นี่เราจะเน้นไปที่งูเหลือม เพราะงูชนิดนี้ถ้าเลี้ยงแบบเอาใจใส่จะเชื่องเป็นมิตรกับมนุษย์มาก และยังได้ชื่อว่าเป็นงูท้องถิ่นของไทยที่ยาวที่สุดในโลก ที่สำคัญสามารถคอสบีดพัฒนาสีและลายได้หลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด จนทำให้งูสายพันธุ์นี้ได้รับฉายา “อัญมณีแห่งสัตว์เลื้อยคลาน” และยิ่งพัฒนา ได้ลายแปลกใหม่ ยิ่งได้ราคา ซึ่งเรื่องนี้คนไทยเก่งมาก อย่างที่นี่เคยมีคนให้ราคาตัวละหลักแสนบาทมาแล้ว
...
นอกจากนี้ เมื่อเอ่ยถึงงูเหลือมเชื่อเหลือเกินว่าไม่มีใครไม่รู้จัก ส่วนตัวของฤกษ์ฤทธิ์จึงอยากผลักดัน ให้งูเหลือมเป็นสัญลักษณ์ของชาติเช่นเดียวกับปลากัดแต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ปมแรกที่ต้องมาแกะคือ กับดักของสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่แม้จะขออนุญาตเลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ แต่ไม่สามารถส่งออกไปแบบมีชีวิตได้ ขณะเดียวกันกลับนำเข้ามาได้ ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงในประเทศ ที่ตอนนี้เริ่มแพร่หลายมากขึ้น เสียโอกาส ทั้งที่ต่างชาติแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความต้องการ งูเหลือมไทย เพราะไทยมีความได้เปรียบจากการเป็นงูท้องถิ่น
“เรามักมองกันว่างูเหลือมงูหลามเป็นภัยคุกคาม มักเข้ามาทำลายปศุสัตว์ สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้พบเห็น แต่แท้ที่จริงแล้ว มนุษย์ต่างหากที่รุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ จนสัตว์เหล่านี้ต้องใช้ชีวิตแฝงตัวในที่รกร้าง ท่อระบายน้ำ จนเมื่อได้กลิ่นเหยื่อก็จะตามไปกินเป็นอาหารตามสัญชาตญาณ เราจึงมักมองเป็นภัยคุกคาม แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ดีไปกว่าเรียกกู้ภัยมาช่วยจับ ส่วนหนึ่งเพราะงูทั้งสองชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และนี่เองกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการเพาะขยายพันธุ์เพื่อการส่งออก ทั้งที่เราได้ชื่อว่าเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก ที่สามารถเพาะขยายพันธุ์จนได้ลายใหม่ แปลกเป็นจำนวนมาก”
...
สำหรับธรรมชาติของงูเหลือม จะเริ่มจับคู่ในฤดูหนาว เข้าสู่หน้าร้อนช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป จะเริ่มออกไข่ครั้งละ 20-70 ฟอง ฟักเป็นตัวช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยที่ฟาร์มมีไม่ต่ำกว่า 100 ตัว จะมีมาก 200-300 ตัว ช่วงกลางปี ฉะนั้นมือใหม่ที่จะหัดเลี้ยงต้องศึกษาธรรมชาติของงูให้ดี ดูความพร้อมของสถานที่ ที่สำคัญต้องมีใจรัก เพราะอาจต้องเลี้ยงเขาไป 10-20 ปี หรืออาจยาวนานกว่านั้น จนหมดอายุขัย สนใจสอบถามได้ที่ 08-1488-4397 หรือเพจบ้านงูยิ้ม.
ทีมข่าวเกษตร
คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม