“สุริยะ” แจงปมเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสีชมพูพังถล่มหลุดร่วงเป็นแนวยาว 4.3 กม. เป็นผลพวงจากการดึงเหล็กชีตไพล์ของโครงการสาธารณูปโภคด้านล่างออก จนไปทำให้รางนำไฟฟ้าเคลื่อนออกจากตำแหน่ง พอขบวนรถตรวจเส้นทางผ่านไปกระแทกดึงรั้งหลุดทั้งยวง “สุรพงษ์” ย้ำเป็นอุบัติเหตุจากความประมาทที่สุดวิสัย สั่งล้อมคอกทุกหน่วยประสานงานกันทุกครั้งที่ทำงานคาบเกี่ยว เตรียมเจรจาขอชดเชยขยายเวลาทดลองนั่งฟรีออกไปจากเดิมสิ้นสุด 2 ม.ค. บีทีเอสยืนยันระบบรางได้มาตรฐานสากล ขอเวลา 7 วันสั่งอะไหล่มาเปลี่ยนซ่อม เผยตัวยึดรางจ่ายไฟมีสำรองแค่หลักร้อย แต่ที่พังเสียหายต้องใช้มากกว่า 1,700 ตัว
จากเหตุการณ์รางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) ของระบบขนส่งรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (อยู่ระหว่างทดลองการเดินรถ) เป็นท่อนอะลูมิเนียมขนาดกว้าง 4 นิ้ว หนา 2 นิ้ว พังถล่มร่วงตกลงมาเป็นแนวยาวช่วงหน้าตลาดชลประทาน ไปถึงสี่แยกแคราย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 24 ธ.ค. มีรถยนต์ที่จอดอยู่ใต้แนวรถไฟฟ้าได้รับความเสียหาย 3 คัน เสาไฟหักโค่น 1 ต้น โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เบื้องต้นคาดสาเหตุจากมีวัสดุแปลกปลอมไปขัดกับล้อขบวนรถตรวจเส้นทางจนลากรางนำไฟฟ้าหลุดทั้งยวง หลังเกิดเหตุ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการ หยุดเดินรถชั่วคราว 7 สถานี ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) เร่งตรวจหาสาเหตุและซ่อมแซมแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
ที่กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นางมนพน เจริญศรี รมช.คมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแถลงข่าวกรณีรางนำไฟฟ้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้รถไฟฟ้าสายสีชมพู ร่วงตกลงมาระหว่างสถานีแคราย (PK02) ถึงสถานีกรมชล ประทาน (PK05) ระยะทางรวมประมาณ 4.3 กม.
...
นายสุริยะกล่าวว่า ได้รับรายงานว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้สันนิษฐานว่าเป็นผลจากการดึงเสาเหล็กเข็มพืด หรือชีตไพล์ (sheet pile) ของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณด้านล่างของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูออก ถือเป็นไปตามขั้นตอนก่อสร้างเมื่องานแล้วเสร็จ อาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้า (Collector Shoe) ที่ติดกับตัวรถตรวจความพร้อมของเส้นทาง (รถไฟฟ้าหมายเลข PM40) เคลื่อนที่ไปกระแทก ส่งผลให้เกิดการขยับตัวของรางนำไฟฟ้า (Conductor Rail) ออกจากจุดยึดแล้วร่วงลงมาด้านล่างบนถนนบางส่วน ประมาณ 300 เมตร และส่วนใหญ่ติดค้างอยู่บนโครงสร้าง ระหว่างสถานีแคราย (PK02) ถึงสถานีกรมชลประทาน (PK05) ระยะทางรวม ประมาณ 4.3 กม.
รมว.คมนาคมเผยด้วยว่า นอกจากนี้ยังพบว่า มีรอยไหม้จากประกายไฟที่เกิดจากการลัดวงจร (Short Circuit) 1 จุด บริเวณคานทางวิ่งเหนือสถานที่ก่อสร้างโครงการระบบสาธารณูปโภคดังกล่าว ใกล้ปากซอยติวานนท์ 34 ส่วนการดำเนินการซ่อมบำรุงและติดตั้งรางนำไฟฟ้าที่เสียหาย ประเมินเบื้องต้นว่าต้องใช้เวลา 7 วัน ขณะเดียวกันต้องรอประเมินและแก้ไขอีกครั้งว่าจะกระทบต่อการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์หรือไม่ ทั้งนี้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จะลงมาตรวจสอบความปลอดภัยและความพร้อมในการเปิดให้บริการก่อนอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ
ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เกิดเหตุยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุเกิดจากความประมาทที่สุดวิสัย เกิดจากเจ้าหน้าที่ส่วนเคลียร์พื้นที่คืนผิวจราจรเก็บงานเพื่อเปิดถนน ในส่วนนี้จะให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมาตรการและประสานงานกันทุกครั้งที่มีการทำงานคาบเกี่ยว ทั้งส่วนงานก่อสร้าง รื้อถอน ต้องแจ้งและส่งมอบพื้นที่ควบคุมงานพร้อมกัน ทั้งผู้ประกอบการ และ ขร. รฟม.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุเพราะมีการเร่งรัดให้เปิดทดลองเดินรถเร็วขึ้น ขณะที่ระบบและความพร้อมของรางยังไม่สมบูรณ์นั้น ยืนยันว่าระบบต่างๆไม่มีปัญหาเพราะที่ผ่านมาเปิดทดลองมาเกือบ 1 เดือน ก็ปกติ และปัจจุบันมีรถตรวจการพร้อมเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบความพร้อมของเส้นทางก่อนให้บริการในทุกๆเช้าเวลา 04.00 น. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู
ต่อข้อถามกรณีที่เกิดขึ้นจะต้องให้ผู้รับสัมปทานขยายระยะเวลาการทดลองให้บริการออกไปหรือไม่ จากเดิมจะทดลองขึ้นฟรีถึงวันที่ 2 ม.ค.67 นายสุรพงษ์ยืนยันว่า ประชาชนจะไม่เสียประโยชน์จากการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงทดลองอย่างแน่นอน แต่จะชดเชยขยายระยะเวลานั่งฟรีไปอีกเท่าไหร่นั้น ขอหารือกับเอกชนก่อน
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระบบรางของรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นไปตามมาตรฐานสากลโลก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับความขัดข้องของระบบรางแต่อย่างใด ระยะเวลาในการซ่อมเบื้องต้นขอเวลา 7 วัน ในการหาอะไหล่และซ่อม เนื่องจากอะไหล่ที่เป็นตัวยึดรางจ่ายไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้ามีสำรองแค่หลักร้อย แต่ความเป็นจริงต้องใช้กว่า 1,700 ตัว ต้องใช้เวลาในการจัดหา ส่วนการให้บริการผู้โดยสารที่จะเดินทางจากสถานีมีนบุรีมายังถนนแจ้งวัฒนะสามารถใช้บริการได้ แต่เมื่อเดินทางจากสถานีมีนบุรีมาถึงสถานีโทรคมนาคมแล้ว จะต้องเปลี่ยนถ่ายไปขึ้นอีกขบวนไปยังสถานีเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนขบวนเนื่องจากมีการสับหลีกขบวนที่สถานีดังกล่าว
ส่วนบรรยากาศบริเวณที่เกิดเหตุ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมวิศวกรพร้อมทีมช่างเข้าดำเนินการถอดแยกชิ้นส่วนรางจ่ายกระแสไฟฟ้าที่หลุดออกมาจากหมุดยึดทั้งหมด ซึ่งแต่ละท่อนมีความยาวประมาณ 10 เมตร หนักประมาณ 170 กก. เพื่อนำไปตรวจสอบว่ายังสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ หากชิ้นส่วนท่อนใดชำรุดหรือมีลักษณะบิดงอผิดรูปก็ไม่สามารถใช้งานได้จำเป็นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด ส่วนด้านการจราจรบนถนนติวานนท์ หลังจากทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงเข้าดำเนินการแก้ไขรื้อถอนเปลี่ยนเสาไฟฟ้าที่หักโค่นบริเวณหน้าตลาดชลประทานแล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่เกิดเหตุ สามารถคืนผิวการจราจรเปิดให้รถสัญจรผ่านได้ตามปกติ แต่เลนขวาสุดยังต้องนำกรวยยางมาวางแนวกันพื้นที่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุขณะทีมช่างเข้ารื้อถอนชิ้นส่วนรางจ่ายกระแสไฟฟ้า ส่วนที่การไฟฟ้านครหลวงเข้าแจ้งความเรื่องความเสียหายของเสาไฟ ที่หักโค่น รวมถึงรถยนต์ของชาวบ้านที่ได้รับความเสียหาย 3 คัน ทางบริษัทรถไฟฟ้ายืนยันแสดงความรับผิดชอบทั้งหมด
...
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่