เป๋าฮื้อ...ชื่อหอยทะเล มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ทั้งระบบประสาท สมอง กระดูก ข้อต่อ จึงมีมูลค่าทางการตลาดสูง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ หอยเป๋าฮื้อยังมีคอลลาเจนที่มีคุณภาพสูง จึงถูกขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งคอลลาเจน” ละถูกนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
แต่หอยเป๋าฮื้อของไทยเข้าสู่ตลาดได้น้อยมาก เนื่องจากที่ผ่านมาหอยเป๋าฮื้อของไทยได้มาจากการจับจากธรรมชาติทั้งหมด ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมให้ได้ขนาด คุณภาพและปริมาณที่แน่นอนอย่างต่อเนื่องได้
กรมประมงจึงได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยการเพาะและอนุบาล หอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด Haliotis asinina จนประสบผลสำเร็จในปี 2531 โดยศูนย์พัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง และกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ได้พัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์หอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทย จนสามารถควบคุมการผสมพันธุ์ ผลิตลูกพันธุ์หอยได้ปริมาณตลอดทั้งปี
นอกจากนั้น กรมประมงยังได้พัฒนาเทคนิคในการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด H. asinina และถ่ายทอดเทคนิคการเพาะเลี้ยงให้แก่เกษตรกรได้นำไปประกอบเป็นอาชีพในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อตามพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
...
“หอยเป๋าฮื้อ หรืออะบาโลน (abalone) ที่พบทั้งหมดในโลกมีประมาณ 70-80 ชนิด แต่ชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมีประมาณ 22 ชนิด แต่ในส่วนของประเทศไทยจากการสำรวจพบว่ามีหอยเป๋าฮื้ออยู่ 3 ชนิด ได้แก่ Haliotis asinina, H. ovina และ H. varia สำหรับหอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด H. asinina ที่กรมประมงเพาะพันธุ์ได้ จะมีลักษณะเด่นคือมีเปลือกติดกับกล้ามเนื้อเท้าขนาดใหญ่แข็งแรง ไม่มีฝาปิดเปลือก มีลักษณะคล้ายจานรี มีสีเขียวเข้ม น้ำตาลหรือแดงคล้ำ ตามขอบเปลือกมีรูเล็กๆ เรียงเป็นแถวยาวไปจนถึงขอบปาก”
ส่วนวิธีการเพาะเลี้ยง นางสุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผอ.กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง บอกว่า จะใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 1 ปี พ่อแม่พันธุ์หอยจะมีความสมบูรณ์เพศตลอดทั้งปี แต่ไข่จะมีปริมาณมากที่สุดในช่วง ม.ค.-ก.พ.
โดยการปล่อยไข่ในแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับขนาดของแม่หอย หากมีขนาดเล็ก จะให้ปริมาณไข่น้อย แต่เพศเมียที่เหมาะสมกับการนำมาเพาะจะมีขนาดตั้งแต่ 5.5 ซม.ขึ้นไป จะให้ไข่ครั้งละ 200,000-600,000 ฟอง มีอัตราการฟัก 60-80% และพัฒนาถึงระยะเกาะวัสดุประมาณ 30% มีอัตรารอดเป็นลูกหอยขนาด 1-2 มม. 0.5%
“ขั้นตอนการเลี้ยงที่สำคัญ คือ เตรียมสถานที่จะเพาะเลี้ยง ต้องอยู่ใกล้ทะเลเพราะจะต้องมีการสูบน้ำให้ไหลหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังควรเป็นสถานที่ที่อยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหายได้ เมื่อได้สถานที่แล้วเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงพันธุ์หอย และที่หลบซ่อนของตัวหอยเป๋าฮื้อ เช่น กระเบื้องมุมโค้ง หรือแผ่นพีวีซีงอเป็นรูปตัว “V” จากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อพัก โดยน้ำจากบ่อพักจะผ่านเข้าสู่บ่อกรอง ซึ่งมีวัสดุจำพวกกรวดและทรายช่วยกรองน้ำก่อนแล้วจึงใช้ถุงกรอง ซึ่งเป็นผ้าสักหลาดมีขนาดช่องตา 5-10 ไมครอน กรองอีกครั้งที่ปลายท่อส่งน้ำก่อนเปิดลงสู่บ่อเลี้ยง”
เมื่อเตรียมบ่อเรียบร้อยแล้ว ผอ.กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งบอกว่า สามารถหาพันธุ์หอยเป๋าฮื้อมาเลี้ยงลงในบ่อได้ ส่วนอาหารที่ให้แก่หอยมีทั้งสาหร่ายผมนาง สาหร่ายสีแดงชนิดต่างๆ และอาหารสำเร็จรูป โดยให้สาหร่ายไม่เกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักหอย ทุกๆ 2 วัน หรืออาหารสำเร็จรูปไม่เกินร้อยละ 3 ของน้ำหนักหอย โดยให้วันละครั้ง
พร้อมทั้งควรจัดการคุณภาพน้ำในบ่อให้ดีอยู่เสมอ ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำเน่าเสีย โดยใช้เวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 1 ปี สามารถเก็บผลผลิตไปขายได้
...
จากการสำรวจราคาหอยในตลาดปัจจุบันพบว่า หอยเป๋าฮื้อขนาด 3–5 ซม. ราคาขาย กก.ละ 1,000 บาท และขนาด 7 ซม. ราคาขายขั้นต่ำ กก.ละ 1,500 บาท
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อถึงจะได้ราคาดี แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนาน ทำให้ระหว่างการเพาะเลี้ยง เกษตรกรจะไม่มีรายได้เข้าสู่ฟาร์ม ขณะที่เกษตรกรต้องมีรายจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าแรงงานอยู่แล้ว และจากการที่หอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์กินพืช ทำให้สิ่งขับถ่ายมีความเป็นพิษต่ำ
นางสุทธินี แนะนำว่า ดังนั้น การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อแบบผสมผสาน เป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดรายได้เข้าสู่ฟาร์ม และเป็นการใช้ทรัพยากรในฟาร์มอย่างคุ้มค่าและกระจายความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจอีกด้วยหากมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี
จากการศึกษาสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่สามารถเพาะเลี้ยงแบบผสมผสานในฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อได้ดี ควรเป็นสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ใช้พื้นที่ในการอนุบาลไม่มากและตลาดมีความต้องการสูง เช่น หอยหวาน ชนิด Babylonia areolata ปูม้า สาหร่ายทะเล หรือปลาทะเลสวยงามชนิดต่างๆ เป็นต้น
...
สำหรับเกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ โทร.0-3266-1398 หรือกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โทร.0-2579-4496.
ชาติชาย ศิริพัฒน์
คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม