เกษตรกรผู้ปลูกมะลิ ที่ อ.บ้านโป่ง ประสบปัญหาของโรคเชื้อราในดอกมะลิจากฝนตก เสี่ยงโรครากเน่า-โคนเน่า ทำให้ต้นทุนเพิ่ม ทั้งค่าปุ๋ยและค่ายาเคมีมาพ่น ป้องกันต้นและดอกเสียหาย แต่ราคาขายยัง กก.ละ 200 บาท วอนรัฐช่วยดูแลราคาปุ๋ยและยาให้ลดลง

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบกับ นางอุไร สันทอง อายุ 55 ปี เกษตรกรผู้ปลูกมะลิ ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง หลังกำลังประสบปัญหาของโรคเชื้อราในดอกมะลิ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนสลับชื้น หลังประเทศไทยเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝน

นางอุไร เปิดเผยว่า ตัวเองทำอาชีพนี้มาแล้วกว่า 20 ปี บนพื้นที่ประมาณ 50 ตารางวา แต่ละวันจะเก็บดอกมะลิได้ประมาณ 5-7  กิโลกรัม ส่งขายให้กับร้านขายดอกไม้กำ ในราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 200-500 บาท หลังจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าในช่วงนี้น้ำฝนจะช่วยทำให้ต้นมะลิออกดอกมากกว่าช่วงฤดูร้อน แต่ในระยะยาว ปริมาณผลผลิตจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากต้นมะลิต้องมาพบกับโรคเชื้อราที่ดอก ซึ่งจะมีลักษณะดอกมีขีดสีน้ำตาล สีม่วง รวมไปถึงโรครากเน่า-โคนเน่าจากเชื้อรา ที่ต้นจะเหลือง เหี่ยว และทิ้งใบ และโรคหนอนกินใบที่อาจแพร่ลามกลายเป็นโรคระบาดในแปลงได้อย่างง่ายดาย

...

เกษตรกรผู้ปลูกมะลิ ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้นอกจากตนจะเก็บดอกมะลิแล้ว ยังต้องคอยหมั่นสอดส่องดูว่าต้นมะลิเกิดโรคและมีหนอนหรือไม่ รวมไปถึงลงทุนซื้อปุ๋ยบำรุงต้น และยาเคมีมาพ่นเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นและดอกมะลิเสียหาย ซึ่งจะกระทบไปถึงต้นทุนที่ขยับสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว สวนทางกับราคารับซื้อที่ปัจจุบันเหลือเพียงกิโลกรัมละ 200 บาท ตนจึงต้องใช้วิธีลดต้นทุน ด้วยการงดจ้างแรงงานเก็บดอกมะลิ ทำให้ต้องใช้เวลาเก็บดอกมะลิเพิ่มขึ้นเป็น 4 ชั่วโมงต่อวัน

นางอุไร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญของเกษตรกรทั้งประเทศ รวมไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกมะลิจะลืมตาอ้าปากมีรายได้เลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัว อยู่ที่ต้นทุนการผลิต ซึ่งในตอนนี้ราคาสารเคมี และปุ๋ยบำรุงต้นสูตรต่างๆ มีราคาค่อนข้างสูง จึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมดูแลราคาต้นทุนการผลิตดังกล่าวให้ลดลงโดยด่วน.