เกษตรกรและแรงงานราชบุรี ค้านขึ้นค่าแรง 450 บาท แต่ขอให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ลดต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ เพราะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะหากขึ้นค่าแรง ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพก็สูงอยู่ดี

กรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง แล้วได้ออกมาประกาศพร้อมเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชน โดยนโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เป็นหนึ่งใน 15 นโยบายเปลี่ยนประเทศที่พรรคนำเสนอ เริ่มต้นทันทีที่ 450 บาท ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเกินต้องได้ค่าล่วงเวลา

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก โดยผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับ นายสุชัช สายกสิกร เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวใน ต.ดอนไผ่ อ.ดำเนินสะดวก ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า หากมองในเรื่องของปากท้องของประชาชนกลุ่มผู้ใช้แรงงานระดับล่างก็ถือว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่ารู้สึกกังวลและหวาดวิตกหากนโยบายเกิดขึ้นจริงๆ

...

เกษตรกรผู้ปลูกมะนาว กล่าวต่อว่า เนื่องจากปัจจุบันแรงงานภาคการเกษตรมีค่าจ้างสูงอยู่แล้ว ด้วยเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอดทน นอกจากค่าแรง 320 บาทที่ตนต้องจ่ายแล้ว ยังมีค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 40 บาท ค่าอาหารกลางวันและน้ำดื่ม 40 บาท รวมเป็นเงิน 400 บาทต่อคนต่อวัน เพื่อเป็นแรงจูงใจในการรับจ้าง การปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด อาจทำให้ตนต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 500 บาทต่อคนต่อวัน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอย่างไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมลงและศัตรูพืช ต่างปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากคิดเป็นสัดส่วนแล้ว ค่าแรงคนงานคิดเป็นร้อยละ 60 – 70 ของต้นทุนทั้งหมด

นายสุชัช กล่าวอีกว่า หากมีปรับค่าแรงจริงตามนโยบาย ในอนาคตตนอาจจะต้องเลิกทำสวนมะนาว แล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำ ใช้แรงงานน้อยทดแทน อาทิ มะพร้าว ปาล์ม และอินทผลัม เมื่อถึงตอนนั้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่จะตกงานกันหมด พืชผลทางการเกษตรที่หลากหลายในท้องตลาดก็จะลดลงไปตามกลไก บานปลายไปจนถึงขั้นต้องนำเข้าพืชผักผลไม้จากต่างประเทศ ราคาก็จะขยับตัวสูงขึ้น แล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ก็จะวนกลับไปยังผู้ปริโภคทั้งหมด ในทางกลับกัน การขยับราคาค่าแรงเช่นนี้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้แรงงานข้ามชาติทั้งแบบถูกและผิดกฎหมายทะลักเข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้น

"ทั้งนี้ ตนอยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ว่า ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องปากท้องกันจริงๆ ต้องแก้กันที่ต้นน้ำ โดยเฉพาะเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมลงและศัตรูพืช เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดโลก เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างจีนและเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย" เกษตรกรผู้ปลูกมะนาว กล่าว

ด้าน นางสมหมาย แซ่เตียว แรงงานรับจ้าง เปิดเผยว่า ตนทำอาชีพรับจ้างตามสวนมาแล้วกว่า 20 ปี เริ่มตั้งแต่ค่าแรงที่ประมาณ 200 บาท ประเด็นนโยบายปรับค่าแรง ตนมองว่าจะส่งผลให้เจ้าของสวนเกษตรมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จนอาจเลิกกิจการ หรือหันไปประกอบอาชีพอื่นที่ไม่มี หรือลดต้นทุนด้านแรงงานลง ซึ่งจะทำให้พวกตนเสี่ยงที่จะตกงานได้

...

แรงงานรับจ้างในสวนมะนาว กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวรู้สึกพอใจกับค่าแรงในปัจจุบันแล้ว หากแต่ต้องการให้ผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ช่วยลดค่าครองชีพพื้นฐานให้กับประชาชนดีกว่า เพราะถ้าขึ้นค่าแรง สินค้าอุปโภคบริโภคก็จะปรับขึ้นตามเป็นลูกโซ่ เมื่อถึงเวลานั้น เงิน 450 บาท ก็ไม่มีประโยน์อีกต่อไป.