นับแต่เปิดประเทศเต็มรูปแบบ “การท่องเที่ยวชุมชน” กำลังได้รับความนิยมส่งผลให้ “ธุรกิจโฮมสเตย์ผุดขึ้นมามากมาย” กลายเป็นทางเลือกให้กลุ่มชอบการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชน

แต่ก็ว่าไป “การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในไทย” เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมานานก่อนที่ “รัฐบาล” จะส่งเสริมปลุกกระแสท่องเที่ยวให้ชุมชนมีรายได้เสียด้วยซ้ำ “แล้วก็มิใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ” เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเท่าใด มักนำมาสู่ภาวะของการแข่งขันเชิงธุรกิจได้อยู่เสมอ

ฉะนั้นหนทางเดียวจะทำให้ “การท่องเที่ยวโฮมสเตย์อยู่รอดได้” ชุมชนต้องมีส่วนร่วมกันทุกคน “ทีมข่าวสกู๊ป” มีโอกาสรวมกิจกรรมทดลองท่องเที่ยวเส้นทางพิษณุโลก-สุโขทัย (มรดกพระร่วง) แล้วได้สัมผัส “โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย” เป็นอีกหนึ่งโฮมสเตย์ต้นแบบประสบความสำเร็จมานานกว่า 18 ปี

มีเบื้องหลังน่าสนใจในการเชื่อมโยง 3 มิติ คือด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศไปแล้ว แม่เสงียม แสวงลาภ ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น เล่าว่า

...

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ “โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น” มีทั้ง คนไทยและชาวต่างชาติสลับหมุนเวียนกันปีละหลายหมื่นคน “สร้างรายได้ 40 ล้านบาท/ปี” แต่กว่าจะเป็นโฮมสเตย์มีชื่อเสียงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะเป็นเพียง “หมู่บ้านเล็กๆ” ตั้งบนที่ดอนอยู่หลังเขาเขตอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย แต่ด้วยเป็นชุมชนเก่ามีอายุกว่า 200 ปี ที่ยังคงสืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่น เช่น การแต่งกายด้วยผ้าซิ่น พิธีผูกขวัญต้อนรับผู้มาเยือนสร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมพิธี อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลายเป็นจุดขายเชิงท่องเที่ยวสร้างสรรค์นั้น

ต่อมาในปี 2534 ได้รวมกลุ่มกับชาวบ้าน “ตั้งกลุ่มแม่บ้านทอผ้าหมักโคลน” เพราะหมู่บ้านบ้านนาต้นจั่นเป็นแหล่งผลิตจำหน่ายผ้าหมักโคลนอันเลื่องชื่ออยู่แล้ว “แต่มักเกิดปัญหาต่างคนต่างขายตัดราคากันบ่อยๆ” คราวนั้นแล้วมีแนวคิดแค่อยากให้คนในชุมชนมีความรักอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรเท่านั้น

ด้วยการนำประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านการพัฒนาชุมชน 9 ปี เข้ามาช่วยปรับพัฒนากลุ่มแม่บ้านทอผ้าหมักโคลนอย่างเป็นระบบ “ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ต่อชุมชนจนประสบความสำเร็จ” ก่อนขยายกิจกรรม “ระดมทุนส่งเสริมอาชีพในหมู่บ้าน” โดยไม่หวังพึ่งพา “ภาครัฐ” เพื่อเป็นทุนให้ยืมประกอบอาชีพของสมาชิก

แล้วยังเก็บเป็น “เงินส่วนกลาง” สำหรับใช้จัดกิจกรรมสำคัญอย่างเช่น “วันที่ 14 เม.ย.ทุกปีเป็นวันครอบครัวก็จัดเลี้ยงอาหารแก่ผู้สูงอายุ” สิ่งนี้เป็นการสร้างความอบอุ่นในชุมชน ความเข้มแข็ง และก่อให้เกิดความเข้าใจบริบทการอยู่ร่วมกัน ทำให้มีข้อตกลงกันในทุกวันที่ 7 ของเดือนจะเป็นวันประชุมใหญ่ของหมู่บ้าน

กระทั่งปี 2541 หน่วยงานพัฒนาชุมชนเข้ามาต่อยอดสนับสนุนเงิน 25,000 บาท ทำให้ชาวบ้าน “จัดตั้งสหกรณ์ทอผ้าหมักโคลน” มีผู้ร่วมลงหุ้น 50 คน เงื่อนไขว่าผู้ผลิตจะได้เงินปันผล 2 เท่า ผู้ร่วมหุ้นเปล่าได้ 1 เท่า

แม่เสงียม แสวงลาภ
แม่เสงียม แสวงลาภ

ก่อนนำออกจำหน่ายในงาน OTOP ด้วยผ้าหมักโคลนมีเอกลักษณ์นุ่มสวมใส่สบาย “ได้รับความสนใจทั้งคนไทยและต่างชาติ” เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP จ.สุโขทัย ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 308 คนใน 9 หมู่บ้าน

ส่วนเคล็ดลับการทำผ้าหมักโคลนนุ่มและสีไม่ตกนั้น เพราะธาตุเหล็กที่อยู่ในโคลนซึมเข้าไปในเส้นใยผ้าให้ขยายตัว เกิดความนุ่ม ช่วยให้การย้อมสีนั้น “ติดทนสีไม่ตก” แล้วเวลาสวมใส่ในหน้าหนาวทำให้รู้สึกอุ่นอีกด้วย ส่วนสีที่นำมาย้อมก็ได้จากธรรมชาติ เช่น สีเขียวแก่จากใบมะม่วง สีเหลืองจากแก่นขนุน สีแดงจากไม้ฝาง

...

อีก 1 ปีถัดมา “โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว” ก็ เข้ามาพร้อมเงินสนับสนุน 2.8 ล้านบาท/หมู่บ้าน ปรากฏว่า “บ้านนาต้นจั่นเป็น 1 ใน 19 จังหวัด” ถูกคัดเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ แล้วเข้าอบรมด้านการ บริหารจัดการการบัญชี การตลาด และการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนใช้เวลา 5 ปี

ทำให้มีโอกาสไปร่วมศึกษาดูงาน “หมู่บ้านโฮมสเตย์ในประเทศญี่ปุ่น” นำแนวคิดนั้นหวังมาพัฒนาหมู่บ้านให้กลายเป็น “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” เพื่อพลิกฟื้นบ้านนาต้นจั่นให้เป็นการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เพราะมีความพร้อมของต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ทางชุมชนได้ร่วมกันรักษาเอาไว้อยู่แล้ว

ปรากฏว่าชักชวนเพื่อนบ้านร่วมกันทำ “โฮมสเตย์” กลับไม่มีใครร่วมด้วยเพราะมองไม่เห็นจุดขายการท่องเที่ยวชุมชนนั้น “ก่อนตัดสินใจทำโฮมสเตย์ที่บ้านตนเอง 8 เดือน” ก็ยังไม่มีนักท่องเที่ยวมาเข้าพักด้วยซ้ำ

ต่อมาก็เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ “ใช้วิธีการออกร้านขายของร่วมไปกับกลุ่มราชการ งานขายสินค้า OTOP” เพื่อเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์โฮมสเตย์ของบ้านตัวเอง อันมีเป้าหมายเพียงว่า “อยากให้มีคนมาท่องเที่ยวแล้วรู้ว่าบ้านนาต้นจั่นนั้นมีโฮมสเตย์” เริ่มกลายเป็นกระแสบอกต่อปากต่อปากเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

...

จนนักศึกษาวิทยาลัยพิษณุโลกติดต่อมาพักทำโครงการร่วมกับชุมชน 1 เดือน “นักท่องเที่ยว” เริ่มรู้จักโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่นเพิ่มขึ้นแล้ว ใช้เวลา 5 ปี พิสูจน์ให้ชาวบ้านเคยปฏิเสธการท่องเที่ยวชุมชนนั้น

“ดังนั้นโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่นต่อสู้อุปสรรคมานานกว่า 24 ปี จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโด่งดังของประเทศ “บริษัททัวร์ต่างประเทศ” เข้ามาสำรวจขายการท่องเที่ยวไปทั่วโลกทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างออสเตรีย เยอรมัน ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี หมุนเวียนมาสร้างรายได้ให้ชุมชนโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท/ปี” แม่เสงียมว่า

ปัญหามีอยู่ว่า “นักท่องเที่ยว” เข้าสู่ชุมชนมากขึ้นสิ่งที่ตามมาคือ “เกิดการแข่งขันเชิงธุรกิจ” ทำให้วิถีโฮมสเตย์ถูกปรับเปลี่ยนเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ไวไฟอินเตอร์เน็ต ส่งผลให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นไม่มีทุนสำรองมากพอลงทุนต่อเติมนั้นก็จะถอดใจเลิกประกอบการไปมากมาย

เหตุนี้ทำให้ “โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น” จำเป็นต้องประชุมหาข้อตกลงร่วมกันในการออกกฎระเบียบข้อปฏิบัติทุกวันที่ 7 ของเดือน “ลักษณะกระจายอำนาจให้ทุกคนมีส่วนร่วมต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม” หากมีความขัดแย้งไม่ตรงกันก็ต้องใช้การลงมติเสียงข้างมากเป็นข้อยุติในการปฏิบัติร่วมกันนั้น

แม้แต่ “ระบบจองบ้านโฮมสเตย์ก็ใช้ระบบเดียว” มีแอดมินทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายรับจอง แล้วค่อยกระจายต่อให้หัวหน้าฝ่ายบ้านโฮมสเตย์ 40 หลังคาเรือน หัวหน้ากลุ่มบริการรถอีแต๊กนำเที่ยวบนดอน ชมพระอาทิตย์ขึ้นมีสมาชิก 25 คน หัวหน้ากลุ่มไกด์นำเที่ยวชุมชนมีสมาชิก 19 คน แต่ละกลุ่มจะมีระบบการจัดคิวเสมอ

...

ทว่าส่วน “รายได้การขายท่องเที่ยว” มีข้อตกลงกำหนดให้รายได้ส่วนหนึ่งถูกหักเข้า “กองทุนท่องเที่ยวหมู่บ้าน” อย่างเช่นค่าที่พักหัวละ 700 บาท ต้องถูกหัก 50 บาท/คน เพื่อเป็นเงินกองทุนส่วนกลางบริหารจัดการต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด และแม่บ้านแม่ครัว

สิ้นปีก็จะคืนทุนให้สังคม เช่น วัด โรงเรียน ตำรวจบ้าน อสม.ผู้สูงอายุเฉลี่ยกลุ่มละ 3 พันบาท

ผลตามมาก็คือ “เกิดการจ้างงานสร้างรายได้” แล้วยิ่งกว่านั้นชาวบ้านในชุมชนยังสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรออกมาขายได้อีก เช่นนี้ทำให้ “เยาวชน” เริ่มหวนกลับมาอยู่บ้านเกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แล้วคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญช่วยพัฒนาชุมชนจนวันนี้เข้าสู่ “รุ่นที่ 3” ในการผลักดันให้โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่นคงเป็นจุดพักผ่อนของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบสัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนและธรรมชาติต่อไป

สุดท้ายนี้ฝากไว้ว่า “การท่องเที่ยวชุมชนอย่าคิดว่าเป็นธุรกิจ” เพราะมักเกิดการแข่งขันแล้วหวังผลกำไรอันนำมาสู่ “กู้หนี้ยืมสิน” ตามมาเสมอ ดังนั้นการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ควรใช้สิ่งมีอยู่เดิมในบ้านของตัวเองเป็นที่ตั้ง “ไม่จำเป็นต้องแต่งเติมอะไรมากมาย” แต่หากมีเงินทุนสำรองก็ค่อยขยับขยายออกไปก็ได้

นี่คือความมุ่งมั่นอันมีปณิธานยิ่งใหญ่ให้ “โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น” ที่ผ่านการศึกษาวิจัยจนเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนชุมชนแห่งนี้ยั่งยืนอย่างแท้จริง.