“อาชีพตำรวจได้เงินเดือนไม่มากนัก เลยคิดทำอาชีพเสริม ตอนแรกเพาะเลี้ยงไรทะเลป้อนตลาดปลาสวยงาม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กรมประมงจึงเข้ามาแนะนำให้เปลี่ยนมาทำสาหร่ายพวงองุ่น ที่จัดเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ปี 2558 จึงเข้ามาอบรมการเลี้ยงกับทางฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ซึ่งก็ได้รับความรู้ คำปรึกษา และการสนับสนุนเป็นอย่างดี กระทั่งปัจจุบันสามารถขับเคลื่อนจนจัดตั้งเป็นกลุ่มประมงพัฒนาสาหร่ายทะเล เพชรบุรีขึ้น ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ประโยชน์ มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากการจ้างงาน รวมถึงการแปรรูปที่จะมีขึ้นในอนาคต”
ด.ต.มนู เผ่าจันทร์ เจ้าของฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นคุณชาย รองประธานกลุ่มประมงพัฒนาสาหร่ายทะเล เพชรบุรี ข้าราชการในสังกัดตํารวจทางหลวง จ.เพชรบุรี พูดถึงฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น บนพื้นที่ 8 ไร่...เดิมทีเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบแผง หรือแขวนในตะแกรงขนาด 50×50 ซม. แล้วใช้หินถ่วงวางให้จมใต้น้ำราว 50 ซม. ตามที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างแนะนำไม่ต่างจากการเพาะเลี้ยงที่อื่น
พบว่า สาหร่ายโตได้จำกัดตามขนาดแผง ขณะเดียวกันกลับพบว่าสาหร่ายที่หลุดร่วงลงดินกลับโตได้ดีกว่า จึงเริ่มเปลี่ยนมาปลูกในดินพื้นล่าง คล้ายกับการดำนา
...
ต่อมาเริ่มศึกษาเพิ่มเติมพบปลากะพงสัตว์ไม่กินพืช แต่จะกินลูกปลาและลูกกุ้งที่ติดมากับน้ำที่สูบเข้ามาในบ่อ ปูกินแพลงก์ตอนบริเวณผิวดิน ในบ่อ ส่วนกุ้งจะกินอาหารบริเวณช่อสาหร่าย จึงทดลองนำมาเลี้ยงในบ่อเดียวกันจำนวนไม่มากนัก มูลของทั้งกุ้ง ปู ปลา กลายเป็นปุ๋ยให้สาหร่าย ขณะเดียวกันเมื่อเก็บผลผลิตสาหร่าย ยังจะมีรายได้เพิ่มจากการขายปู ปลา กุ้ง ที่เหลือรอด
ส่วนวิธีการปลูกแบบดำนาในบ่อลึก 1.5–1.7 เมตร จะปลูกสาหร่ายแต่ละกอห่างกัน 1 ช่วงแขน ปักต้นลงดินลึกราว 1 ข้อนิ้วพอให้รากสามารถยึดเกาะได้ เปลี่ยนน้ำทุกเดือน เดือนละ 2–3 ครั้ง
จากนั้นรอการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ จากทำแบบแผงหรือแขวนในตะแกรงแบบเดิมใช้เวลาเก็บเกี่ยว 60-90 วัน กลายมาเป็นใช้เวลาแค่ 45-60 วัน ได้ผลผลิตวันละ 200-300 กก. ที่สำคัญต้นตอที่ยังเหลือสามารถเจริญเติบโตเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ระยะยาว 4 ปี ถึงคว่ำบ่อปลูกใหม่อีกครั้ง
แต่มีข้อควรระวัง... บ่อต้องมีแสงส่องถึงตลอดเพื่อการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย ที่สำคัญที่สุดรักษาความเค็มให้ได้ระดับ 25-35 ppt ตลอดการเลี้ยง ฉะนั้น ช่วงหน้าฝนน้ำต้องลึกกว่าฤดูกาลอื่น เพราะน้ำจืดและน้ำเค็มจะแบ่งชั้นกันชัดเจน โดยน้ำจืดจะอยู่ด้านบน และเมื่อฝนชุกให้สูบหรือใช้ระบบดูด ออก...สนใจสอบถามได้ที่ 06-4692-9871 หรือ เพจ คุณชาย น้ำเค็ม.
...
กรวัฒน์ วีนิล