ปทุมธานีเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย...กล้วยหอมทองของจังหวัดปทุมธานีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ผลใหญ่ยาว เปลือกบาง ผิวนวล เนื้อเหนียวแน่น ผลดิบจะมีสีเขียว นวล เมื่อสุกจะมีสีทองนวล รสชาติหวานหอม จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อ 30 มี.ค.2563 เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
การติดตามสถานการณ์การผลิตกล้วยหอมทอง กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ต.นพรัตน์ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) พบว่า เป็นกลุ่มที่มีการวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ ผลผลิตผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และเป็นการผลิตแบบอินทรีย์ ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพ มาตรฐาน ตรงกับความต้องการตลาด
ทางกลุ่มเริ่มดำเนินการมาเมื่อปี 2558 ภายในกลุ่มมีการบริหารจัดการให้ผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งปี โดยการหมุนเวียนการปลูกของสมาชิกภายในกลุ่ม
ปี 2565 พบว่า เกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ 10 ไร่ ไปจนถึง 100 ไร่ พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 300 ต้น มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 30,000 บาทต่อปี ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 7–8 เดือน ให้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 2,365 กก.ต่อปี ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 44,200 บาทต่อปี มีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 14,200 บาทต่อปี...หากคิดเป็นผลตอบแทนของทั้งกลุ่มจะได้กำไรปีละ 21.3 ล้านบาท
ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา เฉลี่ยทั้งปี 2565 กล้วยได้เกรด น้ำหนักเครือละ 8-9 กิโลกรัม หรือเครือละ 6-7 หวี ราคาอยู่ที่เครือละ 150-200 บาท...กล้วยตกเกรด ขายเหมารวม 3 เครือ ราคาอยู่ที่ 150-200 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาล ราคาอยู่ที่เครือละ 300 บาท
ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จำหน่ายให้พ่อค้าผู้รวบรวม ซึ่งจะเข้ามารับซื้อผลผลิตทุกสัปดาห์ ส่วนผลผลิตร้อยละ 30 ส่งจำหน่ายให้กับ พ่อค้าผู้รวบรวมเพื่อส่งต่อให้กับตลาด Modern Trade และ Seven Eleven
...
นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีแนวคิดการแปรรูปกล้วยหอมทองเป็นไซรัป กล้วยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ สนใจข้อมูลการผลิตกล้วยหอมทองของกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 09-0116-1114.
สะ-เล-เต