คนแม่กลองรุ่นก่อนสงคราม คุ้นการเดินทางเข้ากรุงเทพฯทางรถไฟ ตอนบวชเณร ผมทันลงสถานีสุดท้ายคือคลองสาน ราวสิบปีต่อมา ตอนเป็นทหารเรือ สถานีคลองสานเลิก ยังทันใช้สถานีวงเวียนใหญ่

แต่ถ้าย้อนไปถึงรุ่นปู่ย่า...ยายเคยเล่าให้แม่ฟังสมัยแฝดอินจัน ส่งไข่เค็มขายกรุงเทพฯทางเรือ

ก็เดาๆเอา...เรือคงเริ่มจากปากคลองแม่กลอง ล่องมาถึงตอนที่เรียกคลองหมาหอนมาออกแม่น้ำท่าจีน แล้วเชื่อมเข้าปากคลองมหาชัย ล่องเข้าไปผ่านตอนที่เรียกโคกขาม...

ผ่านบางบอน ผ่านคลองด่าน ตอนนั้นจะเรียกบางขุนเทียนหรือไม่...ไปออกที่ปากคลองบางหลวง

หากมาถึงรุ่นลูก...ไม่เคยทั้งนั่งรถไฟ ไม่เคยแน่ๆ คือมาทางเรือเหมือนรุ่นปู่รุ่นย่า เพราะมีถนนพระราม 2 ให้เดินทางง่ายๆ สมัยถนนโล่งๆ แม่กลอง-กรุงเทพฯชั่วโมงเดียวก็ถึง

ผมย้อนอดีตยืดยาว ตั้งใจจะเล่าถึงเหตุ...ที่พระเจ้าเสือสั่งให้ขุดคลองโคกขาม คลองที่เดิมทีที่คดเคี้ยวจนพันท้ายนรสิงห์คัดท้ายเรือพระที่นั่งไม่ไหว เรือชนกิ่งไม้ริมตลิ่ง โขนเรือหัก

(เก็บตกกรุงสยาม เอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2545)

เรื่องพันท้ายนรสิงห์ เล่ากันไปหลายครั้ง เอาเป็นว่าปีนั้น พ.ศ.2248 เมื่อพระเจ้าเสือจำใจประหาร แล้วตั้งศาลที่โคกขาม ก็ทรงพระราชดำริว่า คลองโคกขามคดเคี้ยวยากต่อการเดินเรือ

มีพระบรมราชโองการ ให้หานายช่างฝรั่งมาส่องกล้องกำหนดทางให้ตรง แล้วเกณฑ์คน 3 หมื่นคน มาขุดคลองจากโคกขามให้ตรงไปทะลุปากน้ำเมืองสาครบุรี การขุดคลองเดินหน้าไปได้ปีเดียว พ.ศ.2249 ก็หยุดชะงัก

พระเจ้าเสือสวรรคต ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ(พระราชโอรส) สั่งให้ขุดต่อจากที่ขุดไว้เดิม ใช้เวลาสองเดือนจึงเสร็จสิ้นได้ระยะทางรวม 14 กม. พระราชทานชื่อใหม่ คลองมหาชัย

...

นับแต่นั้นการสัญจรไปมาจากปากคลองบางหลวง กรุงเทพฯไปถึงปากคลองมหาชัยก็เป็นไปอย่างสะดวก

ส่วนศาลพันท้ายนรสิงห์ของเก่าหักพังไปนาน แต่ก็ยังมีคนนำของไปกราบไหว้บูชาและสร้างศาลขึ้นใหม่

เรื่องพันท้ายนรสิงห์ที่เล่าขานกันต่อๆมา...เริ่มมีผู้สงสัย เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง?

แต่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อเป็นเรื่องจริง ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงชำระใหม่ สมัยต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง

หนังสือเล่มนี้ องค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์ ปกอ่อนเล่มละ 10 บาท

“เรื่องพันท้ายนรสิงห์ อยู่ท้ายเล่ม 2 หน้า 201 หาไม่ยาก” เอนก นาวิกมูล แนะ

คนรุ่นผม...เกี่ยวพันกับคลองโคกขาม...อยู่บ้าง ตอนเป็นทหารเรือ พักอยู่ในกราบทหาร (กรมอุทกศาสตร์) บริเวณหลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางหลวง นี่คือต้นคลองทางกรุงเทพฯ

ตอนเป็นนายท้ายเรืออวนลาก เอาปลาขายให้แพเฮียม้อ ปากคลองมหาชัย เอาเรือไปจอดอยู่หลายปี นี่ก็ปลายทางมหาชัย

แต่ก็วนเวียนอยู่แค่ปากคลอง ยังไม่เคยสักครั้งที่จะนั่งเรือลึกเข้าไปในคลอง

สี่ห้าวันมานี่เอง คุณอ้น ทิพานัน เจ้าถิ่นจอมทอง ชวนไปลงเรือท่าวัดราชโอรส ผ่านวัดบางขุนเทียนนอก บางขุนเทียนใน ดูบรรยากาศบ้านเรือนสองฝั่ง สวนภูมิใจ ตำนานลิ้นจี้ไทย ร่มรื่นและสวยจับใจซ่อนอยู่ละแวกนี้เอง

เวลาน้อยใกล้ค่ำ วนเวียนอยู่แค่ระยะใกล้ๆ ใจน่ะอยากไปศาลพันท้ายนรสิงห์ ไปโคกขาม

“โคกขามดอนโคกคล้าย สัณฐาณ ขามรุ่นริมธานสนาน สนุกนี้ พูนเพียงโคกฟ้าลาน แลลิ่ว โคกแม่ สนุกดั่งโคกขามชี้ ช่องให้เรียมเห็น”

นรินทร์อินทร์เขียนถึงโคกขามไว้ในนิราศ ให้จดจำรำลึกได้... ไม่อยากบอกหรอก สักวันจะล่องจากคลองบางขุนเทียนไปให้ถึง.

กิเลน ประลองเชิง