ผศ.ดร.ณุศณี มีแก้วกุญชร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนและทีมวิทยากรในโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น : กิจกรรมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น หรือ University as Marketplace ได้ลงพื้นที่ชุมชน จ.สมุทรสาคร เข้าไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งพบมีปัญหาหลากหลาย และปัญหาที่ชุมชนต้องการให้ช่วยหลักๆ คือการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในปี 2565 สำนักงานพัฒนาชุมชนได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการ OTOP เข้าสู่การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2565 เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ (Product Level) ที่จะนำไปสู่การพัฒนา จัดระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ ที่จะใช้ในการทำงานเชิงบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน

ผศ.ดร.ณุศณีกล่าวว่า ปีนี้คณะฯเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งผลิตภัณฑ์เข้ารับการคัดสรร จำนวน 12 ผลิตภัณฑ์ ใน 5 วิสาหกิจชุมชน คือ 1.วิสาหกิจชุมชน เรือจำลองบางหญ้าแพรก 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก เรือมหาสมบัติ และกังหัน 2.วิสาหกิจชุมชนกลิ่นไอตาล 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำตาลปึก น้ำตาลสด และน้ำตาลมะพร้าวชนิดเหลว 3. วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านกระซ้าขาว 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำปลาหวาน และเคยปรุงรสอบแห้ง 4.วิสาหกิจชุมชนบ้านเห็ดขวัญวัลย์ฟาร์ม 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำพริกเห็ดรสปลาทูน่า บิสกิตผักโขมและลูกชิ้นเห็ดผสมอกไก่ และ 5.วิสาหกิจชุมชนสวนปาณิสรา 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเป๋าผ้ามัดย้อมใบฝรั่ง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาผลิตภัณฑ์ ถ้าผ่านการคัดสรร 5 ดาวจะทำให้ขายได้มากขึ้นและส่งขายต่างประเทศได้ด้วย ทั้งนี้ คณะฯ ได้ลงพื้นที่ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน จ.สมุทรสาคร มามากกว่า 3 ปีแล้ว ทั้งการให้ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย เพิ่มช่องทางการตลาด ปีนี้ตั้งเป้าหมายร่วมมือกับบริษัทขายออนไลน์นำสินค้าของชุมชนมาวางขายในระบบออนไลน์มากขึ้น.

...