กลับไปสู่จุดเริ่มต้น โครงการก้าวคนละก้าว กรุงเทพฯ-บางสะพาน เพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะเกิด ก้าวคนละก้าว เบตง-แม่สาย 2,191 กิโลเมตร และก่อนเกิดคำถามติดเทรนด์ในช่วงเวลานี้ #พี่ตูนวิ่งทำไม
จากจุดเริ่มต้น เมื่อปลายปี 2559 กิจกรรมวิ่ง "ก้าวคนละก้าว กรุงเทพ-บางสะพาน" เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ รพ.บางสะพาน โดยตูน บอดี้สแลม-อาทิวราห์ คงมาลัย ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคนไทยทั้งประเทศ ยอดเงินบริจาคกว่า 85 ล้านบาท
จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านไป 5 ปีเต็ม เงินบริจาคเหล่านี้ได้ถูกนำใช้ประโยชน์กับโรงพยาบาลบางสะพาน ตลอดจนโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ ให้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อรองรับและทันต่อความต้องการในการเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพ
...
นายแพทย์เชิดชาย ชยวัฑโฒ ผอ.รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้เป็นต้นคิดริเริ่ม ร่วมกับ ตูน บอดี้สแลม เปิดเผยว่า จากโครงการ ก้าวคนละก้าว กรุงเทพฯ-บางสะพาน ระยะทาง 400 กม. เมื่อวันที่ 1-10 ธันวาคม 2559 ที่ประสบความสำเร็จได้มอบเงินบริจาคให้กับ โรงพยาบาลบางสะพานจำนวน 85 ล้านบาท "เงินดังกล่าวหากมีการใช้จ่าย ต้องผ่านมติคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด"
85 ล้าน ซื้อครุภัณฑ์ ทำประตูกั้นน้ำท่วม
"ก่อนหน้านี้ ในช่วงก่อนที่จะสร้างตึกใหม่ 5 ชั้น เราได้แบ่งการใช้เงินออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกจะใช้ในการพัฒนาศักยภาพของทางโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาล และให้กับทางโรงพยาบาลบางสะพานน้อย รวมถึงรพ.สต. อีกส่วนหนึ่งได้นำมาใช้ซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อที่จะหนีน้ำจากอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่บางสะพานเมื่อปี 2560 ตลอดจนการจัดซื้อประตูกั้นน้ำ เนื่องจากความเสียหายจากอุทกภัยใหญ่เมื่อปี 2560 มีความเสียหายกว่า 21 ล้านบาท ทางโรงพยาบาลได้รับสนับสนุนจากภาครัฐประมาณ 2 ล้านบาท ในส่วนที่เหลือก็นำเงินจากโครงการก้าวฯ ออกมาใช้ในส่วนนี้กว่า 19 ล้านบาท เป็นค่าครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างเพื่อชดเชยในส่วนที่เสียหาย"
ปรับปรุงอาคารใหม่ 5 ชั้น-ขยายห้องผ่าตัด
เงินอีกก้อน จากโครงการก้าว ได้นำมาใช้กับอาคาร 5 ชั้นหลังใหม่ ในการปรับปรุงแบบอาคารซึ่งเป็นแบบที่ถูกออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2548 ให้ตรงกับความจำเป็นในการใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การขยายห้องผ่าตัดจาก 4 ห้องตามแบบเป็น 6 ห้อง และปรับปรุงฟังก์ชันการใช้งานห้องผ่าตัดให้มีความสามารถรองรับการผ่าตัดใหญ่เหมือนโรงเรียนแพทย์ ตลอดจนสามารถปรับความดันในห้องผ่าตัด ให้รองรับสถานการณ์โควิดได้ด้วย
ได้ห้องผ่าตัดความดันลบ ทันช่วยผู้ป่วยโควิด
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงห้องประชุมขนาดใหญ่ของโรงพยาบาล ซึ่งจากเดิมเราไม่มีห้องประชุมใหญ่ และเงินก้อนสุดท้าย นำมาใช้กับเรื่องโควิด เราใช้เงินในโครงการก้าว ปรับปรุงห้องผ่าตัดเป็นห้องความดันลบ หลังจากเปิดใช้งานได้รองรับการผ่าตัดทำคลอดผู้ป่วยโควิดถึง 2 ราย ซึ่งเรียกได้ว่าทันต่อสถานการณ์พอดี นับเป็นความโชคดีที่เราได้นำเงินนี้มาใช้ประโยชน์แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด
...
ได้ช่วยชีวิตคน ช่วยหลายๆ คนมีสุขภาพดีขึ้น
นายแพทย์เชิดชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยสรุปถึงแม้โครงการก้าวฯจะมีข้อคอมเมนต์หลายเรื่อง ในเรื่องของการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เรื่องของในภาพรวมของประเทศที่ไม่ได้รับการแก้ไข แต่สิ่งที่ "ตูน" ทำ สิ่งที่พี่น้องประชาชนร่วมกันแก้ปัญหาจากโครงการก้าวคนละก้าวฯ ในระหว่างทาง ภาพใหญ่จะถูกแก้หรือไม่ถูกแก้ เราไม่มีทางรู้ แต่กับคนที่รับผลกระทบโดยตรง เงินก้อนนี้ก็ยังเป็นประโยชน์กับเขา ได้ช่วยชีวิตคน ได้ช่วยอีกหลายๆ คนให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ได้รับการดูแลที่มีมาตรฐานขึ้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเองก็ทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เห็นทันที..
...
"ส่วนประเด็นการแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่คงต้องใช้กลไกอื่น ซึ่งมีอีกหลายๆ กลไก ก็ต้องยอมรับว่ากลไกที่เราทำมันไม่ได้แก้ไขทั้งระบบ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเยียวยา จากร้อยเราอาจจะแก้สักห้า หรือสิบ ก็ยังดีกว่าไม่ถูกแก้เลย ซึ่งปัญหามันมีอยู่แล้ว แต่การแก้ปัญหามันจะมาหรือไม่มาก็ไม่มีใครรู้"