การเลือกอุปกรณ์ “ดับเพลิง” สำหรับ “ไฟไหม้” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า องค์ประกอบของการเกิดไฟไหม้ประกอบด้วย เชื้อเพลิง ก๊าซออกซิเจนและความร้อน ไฟไหม้จะเกิดบนเชื้อเพลิงที่มีก๊าซออกซิเจนและความร้อนสูงเพียงพอที่ทำให้เกิดการลุกไหม้

ประเด็นต่อมาก็คือ ประเภทของการเกิดเพลิงไหม้ หนึ่ง...เพลิงไหม้ ประเภท A เกิดบนเชื้อเพลิงธรรมดาที่ติดไฟง่าย เช่น ผ้า ไม้ ขยะ กระดาษ พลาสติก เป็นต้น สามารถใช้น้ำเปล่าดับไฟได้

สอง...เพลิงไหม้ประเภท B เกิดบนเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวติดไฟหรือสารเคมีประเภทของเหลวไฮโดรคาร์บอน เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน สไตรีน โพรเพน เป็นต้น...ใช้ดับเพลิงด้วยผงเคมีแห้ง (ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) หรือน้ำยาโฟม หรือน้ำยา Halotron (HCFC123)

สาม...เพลิงไหม้ประเภท C เกิดบนเชื้อเพลิงที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีการเดินกระแสไฟฟ้าอยู่ เช่น ตู้เย็น ทีวี คอมพิวเตอร์ มอเตอร์ เป็นต้น ก่อนดับไฟต้องตัดกระแสไฟฟ้าก่อนและใช้น้ำยา Halotron (HCFC123)

...

“ใช้น้ำหรือโฟมดับไฟไม่ได้ เพราะโฟมมีส่วนผสมของน้ำเป็นสื่อไฟฟ้า”

สี่...เพลิงไหม้ประเภท D เกิดบนเชื้อเพลิงที่เป็นโลหะติดไฟ เช่น แมกนีเซียม อะลูมิเนียม โปแตสเซียม ไทเทเนียม เป็นต้น...ส่วนใหญ่ในห้องทดลองใช้สารเคมีโซเดียมคลอไรด์หรือผงเคมีแห้ง (CO2) ดับไฟ

ห้า...เพลิงไหม้ประเภท K เกิดบนเชื้อเพลิงในร้านอาหารหรือห้องครัว เช่น น้ำมันพืชหรือสัตว์ ไขมันสัตว์ เป็นต้น...ใช้สารเคมีชนิดเปียกบรรจุสาร Potassium acetate ดับไฟ

กรณีโรงงานสารเคมีถูกไฟไหม้ที่ถนนกิ่งแก้ว มีวัตถุดิบตั้งต้นหลักคือ Styrene Monomer (ขนาดมากกว่า 1,600 ตัน) เป็นของเหลวไวไฟ ระเหยง่าย ติดไฟเมื่ออุณหภูมิมากกว่า 31 องศา

สาร Pentane (ขนาด 60–70 ตัน) เป็นของเหลวไวไฟไม่รวมกับน้ำติดไฟได้ง่ายที่อุณหภูมิ 60-93 องศา และ Benzoyl Peroxide (ขนาด 8–40 ตัน) เป็นของแข็งสีขาว ไวต่อการได้รับความร้อนและการเสียดสี

...อาจเกิด “ไฟไหม้” หรือ “ระเบิด” ได้เมื่อได้รับความร้อน

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้า ได้แก่ พลาสติกโฟม Polystyrene (PS) และเม็ดพลาสติกเรซิน EPS (Expandable Polystyrene) เก็บอยู่ในโรงงานอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อสารเคมีและผลิตภัณฑ์ถูกเผาไหม้ จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจำนวนมาก ได้แก่...

ไอระเหยของสาร Styrene Monomer (สารที่น่าจะก่อมะเร็ง), ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) กดประสาทส่วนกลาง จับกับเม็ดเลือดแดงได้ดี อาจหมดสติได้, PAH (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) หรือสารไฮโดรคาร์บอนที่ก่อมะเร็ง, สาร Carbon Black เป็นควันดำหรือผงถ่านที่ถูกเผาไม่หมด ประกอบด้วย PM10 และ PM2.5 เป็นหลัก รวมทั้งมีสาร Benzene ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งจำนวนหนึ่งที่ปะปนในก้อนกลุ่มควัน

อาจารย์สนธิ ย้ำว่า ในต่างประเทศเมื่อโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายถูกไฟไหม้โรงงานจะต้องมีแผนเผชิญเหตุ มีผู้บัญชาการสั่งงานตอบโต้เหตุฉุกเฉินและกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า เนื่องจากหน่วยตอบโต้เหตุฉุกเฉินของโรงงานรู้ว่ามี “สารเคมีอันตราย” อะไรบ้างที่ “อันตราย”

“จึงต้องเลือกใส่ชุดเพื่อดับเพลิงและจัดการเก็บกวาดสารเคมี กรณีนี้ต้องใช้ชุดตอบโต้ระดับ A เนื่องจากเป็นสารที่อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและก่อให้เกิดมะเร็งได้”

นั่นก็คือ “ชุดป้องกันไอสารเคมี (Vapor protective suit)” ที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐาน NFPA 1991 เนื้อผ้าที่ใช้ป้องกันต้องมีคุณสมบัติต่อต้านการซึมผ่านของสารเคมีหรือส่วนผสมที่มีอยู่

...

ถัดมา... เครื่องช่วยหายใจชนิดบรรจุอากาศในตัว (SCBA) ประกอบด้วย...ถังอากาศอัดความดันและหน้ากากชนิดเต็มหน้า...ถุงมือชั้นในชนิดต้านทานสารเคมี...รองเท้าบูตนิรภัยชนิดต้านทานสารเคมี...วิทยุสื่อสารที่รับและส่งได้ในตัว...ถุงมือชั้นนอก สำหรับสวมทับถุงมือชั้นใน...หมวกแข็ง

ปัญหามีว่า...เนื่องจากโรงงานนี้ไม่มีทีมเผชิญเหตุ ทำให้หน่วยดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยภายนอกไม่ทราบว่ามีสารเคมีอะไรบ้าง จึงแต่งกายแบบทั่วไปและใช้น้ำดับเพลิงในระยะแรก ทำให้อาจได้รับมลพิษทาง อากาศเข้าไปได้ ดังนั้น...จึงต้องให้แพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ทำการตรวจร่างกายโดยลงรายละเอียด

นับตั้งแต่การตรวจสารเคมีในเลือดและปัสสาวะ นอกจากนี้ประชาชนที่อาศัยใกล้เคียงที่ได้รับมลพิษทางอากาศก็ต้องได้รับการตรวจดังกล่าวด้วยเช่นกัน

แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว ก็ต้องรู้กันด้วยว่า “สาร Styrene Monomer” หากลงสู่แหล่งน้ำจะมีคุณสมบัติเบากว่าน้ำเนื่องจากเป็นสารไฮโดรคาร์บอนระเหยได้ง่าย เมื่อถูกความร้อนและจะถูกจุลินทรีย์ในน้ำย่อยสลายได้ง่าย ดังนั้น...จึงตกค้างในแหล่งน้ำไม่นานไม่เกิน 3 วันก็สลายไปได้

...

แต่...ที่น่ากังวลคือของเหลวตั้งต้นของ “สาร Styrene Monomer” จำนวนมากที่ถูกเผาไหม้ในโรงงานจะถูกเปลี่ยนรูปเป็นสาร Benzaldehyde, สาร Formaldehyde และสาร Benzyl Alcohol ซึ่งสารเหล่านี้ถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำจากน้ำดับเพลิงในระยะแรกและจากน้ำฝนที่ตกลงมาจะก่อให้เกิดอันตราย

มีพิษต่อพืช...สัตว์น้ำ และเป็นสารตกค้างในเนื้อเยื่อของสัตว์น้ำได้เป็นเวลานาน ประชาชนต้องงดใช้น้ำในคลองใกล้เคียงชั่วคราวอย่างน้อย 7 วัน ส่วนพืชน้ำและสัตว์น้ำหากเหี่ยวหรือตายในช่วงนี้ห้ามนำมารับประทานโดยเด็ดขาด...ที่สำคัญควรงดจับสัตว์น้ำมารับประทานก่อนในช่วงนี้... ราว 1 เดือน

หรือ...ถ้าหากจับสัตว์น้ำต้องปรุงด้วยความร้อนให้สุกก่อน ด้วยความร้อนมากกว่า 80 องศา จึงจะรับประทานได้

จากบทเรียนกรณีการระเบิดเกิดไฟไหม้ของบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกโฟม ซอยกิ่งแก้ว 21 จังหวัดสมุทรปราการ ประเด็นที่หลายๆคนกล่าวถึงก็คือ โรงงานก่อตั้งมาเมื่อ 20 มิ.ย.2532 ก่อนมีประกาศผังเมืองรวมสมุทรปราการแต่ในปี 2544 ผังเมืองกำหนดให้กลุ่มโรงงานดังกล่าวเป็นพื้นที่สีม่วง ถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่สีส้มและสีแดงหรือที่พักอาศัยหนาแน่นปานกลาง...ย่านธุรกิจทำให้ชุมชนเข้ามาอาศัยอยู่ติด

แสดงว่า “การทำผังเมืองรวม” ที่ผ่านมาขาดความรอบคอบ ไม่ได้นำเรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากโรงงานสู่ชุมชนมาประกอบการพิจารณา

...

ถัดมา...โรงงานครอบครองสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายเก็บไว้ในโรงงานจำนวนมากโดยได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานเป็นสารที่ไวต่อความร้อนอาจเกิดระเบิดไฟไหม้ได้โดยที่ประชาชนโดยรอบไม่ทราบมาก่อน

“กรมโรงงานควรเผยแพร่ข้อมูลสารเคมีการครอบครองวัตถุอันตราย การปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมของโรงงานทุกแห่งลงในเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและตรวจสอบการดำเนินการได้”

อีกประเด็นสำคัญ...ต้องกำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงสูงทำการซ้อมแผนฉุกเฉินกรณีไฟไหม้หรือสารเคมีรั่วไหล 3 ระดับทุกปี คือ...แผนระดับ 1 การแก้ไขปัญหาจบในโรงงาน

แผนระดับ 2 มีผลกระทบโดยที่โรงงานข้างเคียงเข้ามาช่วยเหลือ แผนระดับ 3 หน่วยงานราชการเข้ามาแก้ไขปัญหาพร้อมซ้อมแผนอพยพชุมชนโดยรอบให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัย

สุดท้าย...ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ “หน่วยราชการ” ต้องเร่งทำการสำรวจจำนวน “โรงงาน” ที่ครอบครอง “วัตถุอันตราย”...ปริมาณมาก และมีความเสี่ยงที่ตั้งอยู่ติดกับ “ชุมชน” และหาวิธีให้โรงงานประเภทนี้ย้ายไปอยู่ใน “นิคมอุตสาหกรรม” ทั้งหมดอย่างจริงจัง.