กรณีเหตุการณ์ไฟไหม้ภายในบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว 21 หมู่ 15 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง

ความเสียหายแยกตาม “ระยะเวลา” และ “ผลกระทบ” อาจจะแบ่งได้เป็น...“เพลิงไหม้” และ “สารเคมี”...เพลิงไหม้ใช้เวลาไม่เกิน 1-2 วันเพลิงก็สงบ ส่วนสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ ที่มีสารที่เรียกว่า “สไตรีน” และ “เบนซิน” โดยสไตรีนมีผลต่อระบบประสาท ในขณะที่เบนซิน จัดเป็นพิษสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว

“ผู้ที่สูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดวิงเวียน อาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ง่วงนอน ชัก หัวใจเต้นแรง และอาจเสียชีวิตได้ การได้รับเบนซินเป็นเวลานานจะมีผลทำให้เป็นโรคโลหิตจาง”

อ้างอิงข้อมูลจาก GISTDA เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างระยะทางครอบคลุมรัศมี 10 กิโลเมตร ทั้งนี้ ไม่นับรวมถึงการนำพาสารเคมีตามทิศทางลมไกลครอบคลุมถึงจังหวัดฉะเชิงเทราและนครนายก...ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนผลกระทบ นั่นหมายถึงระยะทางที่มีผลกระทบไปถึงเกือบ 100 กิโลเมตร

...

“ไฟไหม้ไม่นานก็ดับได้...สารเคมีไม่กี่วันกี่เดือนก็จางหาย แต่สารกัมมันตรังสี...คงอยู่ทำร้ายเราหลักร้อยหลักหมื่นปีบางประเภทเป็นล้านปี...ถ้ารั่วไหล เกิดปัญหา อย่าเห็นเป็นเรื่องไกลตัว”

เหลียวหลังแลหน้า “เครือข่ายคนรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติ” ตั้งปุจฉาสำคัญว่า หากเทียบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบกรณีมีการรั่วไหลของ “สารกัมมันตรังสี” ที่พื้นที่ “เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยบางเขน” ขนาด 2MW ก็ทำการวิเคราะห์ไกลถึงระยะครอบคลุมรัศมีถึง 80 กิโลเมตร

แต่...รายงานการวิเคราะห์หากมีการรั่วไหลของโครงการเตาปฏิกรณ์ นิวเคลียร์วิจัยใหม่ขนาด 20MW อ.องครักษ์ จ.นครนายก กลับมีระยะไกลเพียงราว 300 เมตรเท่านั้น

น่าแปลกใจไหม...ทั้งๆที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับพื้นที่บางเขน

มีอะไรไม่ชอบมาพากล หรือ...มีใครเล่นกลซ่อนเงื่อนหมกเม็ดอะไรหรือเปล่า?

กรณีเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการดำเนิน โครงการ “เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่” ประเด็นสำคัญมากเช่นกัน ด้วยเหตุว่า องค์กรที่ประชาชนต้องการฝากความหวังเป็นหูเป็นตา รักษาผลประโยชน์ของประชาชน กลับไม่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น

ขออนุญาตยกตัวอย่างชัดๆ ประเด็น...การเปลี่ยนแปลงรัศมีตามกฎหมายรอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย ว่าด้วยมาตรฐานด้านความเหมาะสมของสถานที่ตั้งเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย อ้างอิงจากเอกสาร ว่าด้วยมาตรฐานด้านความเหมาะสมของสถานที่ตั้งเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย พ.ศ.2559

พลิกไปที่หน้า 31 เล่ม 133 ตอนพิเศษ 170 ง ราชกิจจานุเบกษา 2 สิงหาคม 2559 ได้ระบุไว้ว่า พื้นที่หวงห้ามรอบเตาปฏิกรณ์ ที่เหมาะสมคือ 380 เมตร พุ่งเป้าไปที่ “พื้นที่หวงห้าม” หมายความว่า พื้นที่โดยรอบเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยและผู้ยื่นขออนุญาต มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่นั้น

หากเทียบรัศมีที่เหมาะสมกับสถานที่เลือกเป็นที่ตั้งโครงการเตาปฏิกรณ์วิจัยเครื่องใหม่ จะสังเกตได้ว่าพื้นที่ไม่เข้าเงื่อนไขของระเบียบ ดังกล่าว กล่าวคือ...รัศมีครอบพื้นที่ข้างเคียงอันไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโครงการฯ

ต่อมาไม่นานนักก็ได้มีกฎกระทรวง การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 9 เมษายน 2563 เล่ม 177 ตอนที่ 28 ก

ขออนุญาตตัดมานำเสนอในประเด็นพื้นที่ดังนี้ “พื้นที่กีดกัน” หมายความว่า พื้นที่ของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ซึ่งผู้ขอรับใบอนุญาตต้องแสดงให้เห็นว่าในกรณีเกิดอุบัติเหตุรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณขอบของพื้นที่กีดกันจะต้องได้รับปริมาณรังสีทั่วร่างกายไม่เกิน 250 มิลลิซีเวิร์ต

...

หรือ...ปริมาณรังสีที่ต่อมไทรอยด์ ไม่เกิน 3,000 มิลลิซีเวิร์ต จากการรับสารไอโอดีนภายในเวลาสองชั่วโมง

ถัดมา “พื้นที่ระวังเหตุ” หมายความว่า พื้นที่โดยรอบพื้นที่กีดกัน ซึ่งผู้ขอรับใบอนุญาตสามารถจัดการให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นซักซ้อมและปฏิบัติตามวิธีการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

และ...ต้องแสดงให้เห็นว่าในกรณีเกิดอุบัติเหตุรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณขอบของพื้นที่นี้จะต้องได้รับปริมาณรังสีทั่วร่างกายไม่เกิน 250 มิลลิซีเวิร์ต หรือปริมาณรังสีที่ต่อมไทรอยด์ไม่เกิน 3,000 มิลลิซีเวิร์ต จากการรับสารไอโอดีนภายในสามสิบวัน

สุดท้าย...“พื้นที่ห่างจากชุมชน” หมายความว่า พื้นที่จากจุดศูนย์กลางที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่มีรัศมีไม่น้อยกว่า 1.3 เท่าของรัศมีของพื้นที่ระวังเหตุและต้องมีประชากรหนาแน่นไม่เกิน 500 คนต่อตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ไม่รวมถึงพื้นที่ในส่วนที่เป็นพื้นที่กีดกันและพื้นที่ระวังเหตุ

ให้นึกภาพตาม...จากพื้นที่ทั้งสามส่วนเราจะไม่สามารถหาระยะทางทั้ง 3 พื้นที่ได้เลย ซึ่งแตกต่างกับระเบียบเดิมที่ระบุพื้นที่อย่างชัดเจนว่ามีระยะกี่เมตร หากสังเกตพื้นที่ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 1.3 เท่าของรัศมีพื้นที่ระวังเหตุ คำว่า “รัศมี” หมายถึง ระยะทางจากจุดศูนย์กลางไปยังขอบเขตวงกลม

...

ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะทราบระยะทางด้วยเหตุผิดหลักตรรกศาสตร์ กล่าวคือไม่สามารถแปลงหน่วยรังสี (ซีเวิร์ต) เป็นระยะทาง (เมตร) ได้เพราะคนละหน่วยการวัด

หรือ...พูดอีกนัยหนึ่ง คือ รอให้เกิดอุบัติเหตุทางรังสีก่อนค่อยมาวัดปริมาณรังสี เพื่อวัดระยะทางจะเกิดอุบัติเหตุทางรังสีได้ก็ต้องมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ก่อน

สรุปได้ว่า “ต้องสร้างเตาฯก่อน?” เป็นการสร้างความคลุมเครือด้านกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง แล้วถ้าสร้างแล้วเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆก็ต้องมานั่งตามแก้กันแบบวัวหายล้อมคอก

ความไม่พร้อมด้าน “กฎหมายนิวเคลียร์” ในนานาประเทศที่มีกิจกรรมด้านนิวเคลียร์จะมีกฎหมายความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายทางนิวเคลียร์ คล้ายๆกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถยนต์ ไม่ต้องรอสอบสวนหาสาเหตุว่าใครถูก ใครผิด แต่มีกฎหมายคุ้มครองกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้น

เหลียวกลับมามองบ้านเรา “ประเทศไทย” ไม่มีกฎหมายนี้ แต่ประเทศไทยก็ไปใช้กฎหมายอื่นๆมาใช้เทียบเคียงใช้แทน เช่นกรณี คดีโคบอลต์ 60 ที่สมุทรปราการเมื่อหลายปีก่อน กว่าคดีจะเป็นที่ยุติก็กินเวลาเป็นหลายสิบปี จนผู้เสียหายบางรายล้มหายตายจากไปก็มี

...

จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมกฎหมายด้านนี้ให้พร้อมก่อน อีกประการหนึ่งปัจจุบันกฎหมายการประกันภัยเองก็ยังไม่คุ้มครองในประเด็นด้านความเสียหายอันเกิดจากกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ ดังระบุใน “ข้อจำกัดความคุ้มครองภัยนิวเคลียร์”...ข้อยกเว้นข้อหนึ่งในกรมธรรม์ประกันวินาศภัยที่ยกเว้นความคุ้มครองการสูญเสีย หรือเสียหาย หรือความรับผิดที่เกิดจาก หรือเกี่ยวเนื่องจาก หรือมีสาเหตุโดยทางตรง หรือทางอ้อม...

จาก ก. การแผ่รังสีหรือการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หรือจากการนิวเคลียร์ใดๆ อันเนื่องมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ข. กัมมันตรังสี ความเป็นพิษ การระเบิด หรืออันตรายอื่นๆ ที่เกิดจากการประกอบเครื่องที่ใช้ในการกัมมันตรังสีที่ระเบิดได้ หรือส่วนประกอบที่มีกัมมันตรังสี

ยังมีอีกหลายประเด็น...ที่มีความผิดปกติ ความไม่พร้อม “นิวเคลียร์” ประเทศไทย ต้องชัดเจนมากที่สุด ดีกว่าเกิดความเสียหายขึ้นมาแล้วจะมาล้อมคอกทีหลังก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา.