ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พลิกวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาส ปรับแผนซ่อมรันเวย์และพื้นผิวทางขับ ลดระยะเวลาให้สั้นลง จากที่ต้องใช้ 4 ปี เหลือเพียง 2 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานในระยะยาว
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.63 นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า จากที่ ทสภ. มีแผนที่จะดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงพื้นผิวทางขับ (Taxiway) ทางขับเข้าสู่หลุมจอด (Taxilane) และหัวทางวิ่ง (Runway) ในระหว่างปี พ.ศ.2564 - พ.ศ.2568 แบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งจะทำการปรับปรุงบริเวณหัวทางวิ่ง 01L, 19L และ 19R ทางขับ B, C, D, E, G และ H ทางขับเข้าสู่หลุมจอด (Taxilane) T4, T5, T6, T7, T8, T9, T10, T11, T12, T13, T14, T15, T16 และ T17
ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวต่อว่า แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินลดลงมากตามจำนวนผู้โดยสารนั้น เป็นโอกาสเหมาะสมที่ ทสภ. จะปรับแผนงานให้เร็วขึ้นได้ ซึ่งจากการพิจารณาในรายละเอียดของโครงการ ทสภ. สามารถปรับลดเวลาการซ่อมจากเดิม 4 ปี เหลือเพียง 2 ปี คือระหว่างปี พ.ศ.2564 - พ.ศ.2566 โดยมีพื้นที่ซ่อมแซมรวมทั้งสิ้น 792,314 ตารางเมตร แบ่งงานซ่อมแซมออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พื้นที่ 277,859 ตร.ม. มูลค่า 1,275 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 270 วัน และระยะที่ 2 พื้นที่ 514,455 ตร.ม. มูลค่า 3,125 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 450 วัน
สำหรับความคืบหน้าการปรับแผนงานดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเผยแพร่ข้อกำหนดรายละเอียดงานจ้าง (Term of Reference: TOR) เพื่อจัดหาผู้รับจ้างของงานระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีปฏิทิน พ.ศ.2564 (ก.ค. - ก.ย.64)
...
นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า การปรับลดระยะเวลาการซ่อมดังกล่าว มีสาเหตุมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีปริมาณจราจรทางอากาศ การจราจรภาคพื้น และการใช้บริการหลุมจอดอากาศยานน้อยลง ทสภ. สามารถบริหารจัดการหลุมจอดและเส้นทางการจราจรภาคพื้นของอากาศยานได้ง่ายขึ้น และส่งผลให้การปิดพื้นที่ทางขับ และหลุมจอดอากาศยาน เพื่อดำเนินการปรับปรุงมีข้อจำกัดลดลง สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการพร้อมกันได้หลายพื้นที่ โดยไม่กระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร
ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวถึงการซ่อมปรับปรุงพื้นผิวทางขับ (Taxiway) ทางขับเข้าสู่หลุมจอด (Taxilane) และหัวทางวิ่ง (Runway) ในครั้งนี้ว่า มีความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดให้มีการดำเนินงานตามแผน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวต้องรองรับน้ำหนักอากาศยานมากกว่าบริเวณอื่นๆ และเป็นบริเวณที่มีความถี่ในการใช้งานสูง ให้คงทนแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักของอากาศยานขนาดใหญ่ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยการปรับปรุงครั้งนี้ ทสภ. จะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดวัสดุพื้นผิวจากวัสดุแอสฟัลต์ เป็นวัสดุปอร์ตแลนด์ซีเมนต์คอนกรีต พร้อมกับการติดตั้งระบบระบายน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามผลการศึกษาและคำแนะนำของวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ โดยคอนกรีตจะมีความแข็งแรงและทนต่อความชื้นที่เกิดจากน้ำใต้ดิน ซึ่งมีระดับสูงในบริเวณ ทสภ. ได้ดี
นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากการให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นผิวทางขับ (Taxiway) ทางขับเข้าสู่หลุมจอด (Taxilane) และหัวทางวิ่ง (Runway) ซึ่งเป็นการดูแลและเพิ่มประสิทธิภาพของท่าอากาศยานในระยะยาวแล้ว ระหว่างการดำเนินการภายใต้โครงการข้างต้น ทสภ. มีมาตรการระยะสั้นรองรับโดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง หากได้รับแจ้งหรือตรวจพบความชำรุดบกพร่อง จะทำการปิดพื้นที่เพื่อซ่อมแซมพื้นผิวอย่างเร่งด่วนในทันที สำหรับการดำเนินการในระยะกลาง ทสภ. จะดำเนินการซ่อมแซมพื้นผิวโดยเปลี่ยนชั้นวัสดุแอสฟัลต์เดิมให้เป็นวัสดุแอสฟัลต์ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานในระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (Safety Management System) ของ ทสภ. ซึ่งมีการเก็บสถิติการแตกของพื้นผิวและการแก้ไขปัญหาโดยการปิดพื้นที่ซ่อมฉุกเฉิน พบว่าสถิติการตรวจพบพื้นผิวแตกร่อนและการปิดซ่อมฉุกเฉินลดลงอย่างมาก และปัจจุบันยังไม่พบเหตุการณ์อากาศยานได้รับความเสียหายจากพื้นผิวที่แตกร่อนแต่อย่างใด
...
นอกจากนี้ เพื่อให้การดูแลคุณภาพพื้นผิวทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยานอยู่ในมาตรฐานสูงสุด ทสภ. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาคุณภาพผิวทางวิ่งทางขับและลานจอดอากาศยาน ทสภ. โดยมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (Airline Operators Committee : AOC) เพื่อรายงานและประเมินสถานการณ์ตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยของ ทสภ. เป็นประจำทุกสัปดาห์ด้วย.