นับแต่ปลายปี 2561 ปริมาณ ฝนรวมของประเทศไทยน้อยกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในภาคเหนือ ภาคกลาง ทำให้ภาพรวมน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% ไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร
เพราะจำเป็นต้องเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ทำให้เกษตรกรสูบน้ำจากคลองชลประทาน ส่งน้ำผ่านคลองไปให้โรงผลิตน้ำประปา จนแทบไม่มีน้ำดิบนำไปผลิตได้เพียงพอ และคุกคามหนักมาถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อยไม่เพียงพอในการผลักดันน้ำเค็มไปได้
อีกทั้งสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ ที่มีอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง ยกตัวระดับน้ำทะเลนี้เสริมให้น้ำเค็มรุกตัว เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และดันน้ำเค็มเข้ารุกมาถึงสถานีสูบน้ำดิบผลิตน้ำประปาสำแล จ.ปทุมธานี
“ภัยแล้ง” คุกคามหนักไม่มีน้ำปล่อยมาผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยานี้ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยใช้ระบบน้ำจืดไล่น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยามาตลอด
ซึ่งน้ำจืดนี้ปล่อยมาจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์
...
ถ้าปีใดประสบภัยแล้ง...มักปล่อยน้ำออกมาผลักดันน้ำเค็มรวมกันราววันละ 80-85 ล้าน ลบ.ม. หากมีฝนมาก หรือมีน้ำค้างตามคลองสาขาก็สามารถลดการปล่อยน้ำลงตามความเหมาะสม แต่ต้องใช้น้ำจืดไล่น้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ถูกปล่อยทิ้งลงทะเลไปโดยเปล่าประโยชน์
ในบางประเทศใช้วิธีสร้างเขื่อน ประตูระบายน้ำ กำแพงกั้นน้ำ หรือคันดินกันน้ำเพื่อกั้นปากแม่น้ำ ในการทำประตูเปิดปิดระบายน้ำ ช่วยสร้างความยืดหยุ่น และแก้ไขปัญหาการจัดการกับระดับน้ำที่ผันผวนขึ้นลงของน้ำทะเลตลอดเวลา และมีการปล่อยน้ำจืดมาไล่น้ำเค็มช่วยประมาณ 20%จากที่ต้องปล่อยน้ำ 80%
แต่ประเทศไทยไม่สามารถมีประตูระบายน้ำกั้นปากแม่น้ำเช่นนั้นได้ หากวันใดปิดปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อนั้น...น้ำในคลองจะเน่าเสียทันที เพราะน้ำเค็มทะเลเป็นตัวช่วยควบคุมเชื้อโรคบางชนิด ซึ่งเป็นกลไกชะลอเน่าเสียของน้ำช้าลง และบางส่วนก็ปล่อยทิ้งทะเล มีสาเหตุจากไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองที่ดี
เมื่อปี 2563 ต้องเผชิญภัยแล้งหนัก ส่งผลต่อแหล่งน้ำต้นทุนลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำน้อย ประกอบกับชาวนาตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่างมีการสูบน้ำกักเก็บไว้ ทำให้น้ำไหลลงมาไม่เพียงพอผลักดันน้ำเค็มตามกำหนดจนเกิดปัญหาน้ำประปามีความเค็มเกินมาตรฐาน
ดังนั้น ในสถานการณ์น้ำขาดแคลนมีน้อยจะปล่อยน้ำจืดมาไล่น้ำเค็มทิ้งเหมือนอดีตคงไม่ได้อีกต่อไป แต่ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำตามกลไกของน้ำทะเลที่จะหนุนขึ้นลง เช่น ควรคำนวณการหนุนน้ำเกิดขึ้นในวันใด...ก็ปล่อยน้ำจืดล่วงหน้า เพื่อให้มาไล่น้ำเค็มชนตรงกันพอดี หากน้ำทะเลเข้าสู่ปกติ ก็หรี่ปล่อยน้ำลง
ตอนนี้ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการปล่อยน้ำตามกลไกน้ำทะเลหนุน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 เพื่อประหยัดน้ำในเขื่อน ให้มีน้ำใช้นานพอจนถึงฤดูฝน ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ และกำลังปัดฝุ่นโครงการน้ำประปา 3 แสนล้าน สร้างโรงงานดักน้ำดิบจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีการเดินท่อป้อนน้ำประปาส่งมาให้คนกรุงเทพฯ
แก้ปัญหาการใช้น้ำจืดไล่น้ำเค็มให้มาสิ้นสุดใน จ.ชัยนาท ที่สามารถลดปล่อยน้ำจืดได้ประมาณร้อยละ 40 จากเดิมต้องปล่อยร้อยละ 80 แต่ว่า...แม่น้ำเจ้าพระยาจะกลายเป็นน้ำเค็ม ตั้งแต่ปากทะเลอ่าวไทยยาวมาถึง จ.พระนครศรีอยุธยา
มีผลทำให้สัตว์น้ำหรือสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ถูกไล่ขึ้นไปอยู่ภาคกลางตอนบนเพื่อหนีน้ำเค็ม และอาจมีสิ่งมีชีวิตบางชนิดลดจำนวนน้อยลงตามมาด้วยที่ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ แต่ในสถานการณ์ภัยแล้ง...โครงการนี้สามารถประหยัดน้ำและยืดระยะเวลามีน้ำใช้ได้ 30 ปี
ประเด็นที่เป็นห่วงกัน...ในเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีการเสนอขุดบ่อบาดาล ในพื้นที่ปลายท่อระบบการส่งน้ำประปาในเขตกรุงเทพฯ อาจทำให้เกิดปัญหาดินทรุดหรือไม่นั้น ขอย้อนไล่เรียงกันไปนับตั้งแต่ปี 2450 ที่มีการเริ่มใช้น้ำบาดาลกัน จนมาปี 2521 ที่มีการทรุดตัวของดิน
กระทั่งปี 2520...ประกาศ พ.ร.บ.น้ำบาดาล สนับสนุนประชาชน หันมาใช้น้ำประปาแทนน้ำบาดาล เพื่อควบคุมการใช้น้ำบาดาล โดยผู้จะใช้ต้องขออนุญาตก่อน และปี 2546 ปรับปรุง พ.ร.บ.ปี 2520 กำหนดเขตห้ามสูบน้ำ มีโทษจำคุกและปรับ อีกทั้งมีน้ำประปาเพิ่มขึ้น ทำให้เลิกสูบน้ำบาดาลกันถาวร
...
ที่ผ่านมามีภาคเอกชนขออนุญาตใช้น้ำบาดาลมาตลอด แต่หน่วยงานรัฐ ไม่อนุญาต เพราะเกรงว่าจะลักลอบสูบกัน ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะหน่วยงานรัฐใช้ในยามจำเป็นช่วงฤดูแล้ง เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็ต้องหยุดใช้น้ำบาดาล
ทว่า...ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล สามารถใช้น้ำใต้ดินได้วันละ 1.2 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ในชั้นดินไม่เกิน 20 เมตรจากพื้นดิน ถ้าใช้น้ำลึกลงไปขั้นความลึก 60 เมตร อาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินทรุดตัวลงได้...
ดังนั้น หากใช้น้ำบาดาลต้องประคองให้อยู่ในระดับ 20 เมตรที่ไม่ทำให้ดินทรุดตัว
สิ่งสำคัญในระดับ 20 เมตรนี้ หากใช้กันวันละไม่เกิน 1.2 ล้าน ลบ.ม. สามารถใช้ได้ตลอดปี และไม่ทำให้เกิดการทรุดตัวของดิน เพราะน้ำใต้ดินนี้มีการสะสมกันมานานกว่า 5 พันปีแล้ว และสามารถรองรับ ภัยแล้งหนัก 2–3 ปีข้างหน้าได้ด้วย ถือว่า...เป็นน้ำสำรองที่ช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้ดีมาก
แม้ว่าในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สมุทรปราการ และเขตลาดกระบัง กทม. มีปริมาณน้ำใต้ดินต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ สาเหตุการลักลอบสูบน้ำกันอยู่ เพราะมีระบบตรวจจับปริมาณน้ำ 300 แห่ง มีสถานีตรวจวัดการทรุดตัวของดิน 35 แห่ง ไม่รวมทั่วประเทศ ทำให้ทราบถึงปริมาณน้ำ และการทรุดตัวของดินอยู่ตลอด
เรื่องน้ำบาดาล...เคยมีการศึกษาให้เป็นแหล่งน้ำสำรองสำคัญในช่วงภัยแล้งหนัก ที่ไม่ใช่ใช้น้ำเพียงอย่างเดียว แต่มีการเติมน้ำชั้นใต้ดินให้มีน้ำสำรองตลอด เพื่อใช้ยามเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดมีการใช้น้ำลึกกว่า 20 เมตร ทำให้ต้องเติมน้ำสูง 10 เมตร ด้วยการทำฝายชะลอให้น้ำลงดินดีเร็วขึ้น
“หากย้อนประวัติ...ภัยแล้ง 63 นี้ ยังไม่ถือว่ารุนแรงหนักหนาเท่าอดีต ที่เคยเกิดภัยแล้งต่อเนื่องกัน 10 ปี จนย้ายเมืองหนีสร้างเมืองใหม่ นับแต่เดิมเมืองสุโขทัยเผชิญภัยแล้งหนัก ย้ายมาอยู่เมืองพิษณุโลก จนเผชิญภัยแล้งอีก ต้องย้ายเมืองใหม่ไปพระนครศรีอยุธยา และมาอยู่ติดทะเลที่ตั้งของกรุงเทพฯจนถึงทุกวันนี้” รศ.ดร.สุจริต ว่า
...
เรื่องน่าสนใจ...อนาคต...การแก้ปัญหาในสภาวะวิกฤติภัยแล้ง เริ่มจากภาคอุตสาหกรรม ตามนิคมอุตสาหกรรม ควรมีแหล่งน้ำใช้ของตัวเอง ซึ่งเคยเสนอเรียกร้องกันต่อเนื่อง ในบางนิคมฯก็ดำเนินการกันบ้างแล้ว แต่ต้องให้ทุกแห่งมีบ่อน้ำตัวเอง ในการมีน้ำใช้อย่างน้อย 100 วัน เพื่อลดภาระพึ่งพาน้ำในเขื่อนอีกทางหนึ่งด้วย...
ส่วนภาคเกษตรกรรม อาจมีระบบการกระจายน้ำเป็นช่วงระยะเวลา 3 วันครั้ง หรือ 7 วันครั้ง ดังนั้น ภาคการเกษตรเองก็ควรมีสถานที่เก็บน้ำด้วย เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลักก่อน ขณะที่ประชาชนก็ต้องมีแหล่งเก็บน้ำเช่นกัน
ความเลวร้ายนี้อาจใช้ให้เป็นโอกาสข้อดีได้...ในการถอดบทเรียนให้เปลี่ยนแปลงการแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ หรือนวัตกรรมที่มีแผนเตรียมตัวความเลวร้ายสุดโต่งของภัยแล้งติดต่อกันระยะ 3 ปี
ซึ่งในปี 1997-1999 เคยเกิดภัยแล้งนั้นมาแล้ว กลับไม่นำมาเป็นบทเรียน เพราะอนาคตต้องเกิดขึ้นอีก ดังนั้น ควรใช้โอกาสนี้เป็นแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้งอย่างยั่งยืน
เพราะมีแผน...มีระบบเตรียมพร้อมล่วงหน้า เมื่อเกิดภัยแล้งย่อมสามารถลดความเสี่ยง ลดความเสียหายลงได้ดีกว่าไม่มีแผนแน่นอน...