"กรมการข้าว" กระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวตามมาตรฐานสินค้าเกษตรครบวงจร สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งออก


นายณราวุฒิ ปิยโชติสกุลชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กล่าวว่า  การรับรองมาตรฐานการผลิตข้าว มีหลากหลายมาตรฐาน ประกอบด้วยมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP หรือมาตรฐานอินทรีย์ ซึ่งความสำคัญของการรับรองมาตรฐานนี้ แต่เดิมเกษตรกรมีวิธีการ กระบวนการผลิตข้าวโดยใช้ปุ๋ยตามธรรมชาติ วัสดุจากธรรมชาติ ไม่ได้มีการนำเข้าสารเคมีและวัตถุอันตราย ไม่จำเป็นต้องรับรองมาตรฐานแต่อย่างใด เมื่อเกษตรกรมีการซื้อขายข้าวกัน ผู้บริโภคมีความต้องการทราบว่าอาหารปลอดภัยจากสารเคมี ปลอดภัยจากวัตถุอันตราย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการขอรับรองมาตรฐาน โดยที่ตามระบบทั่วไป ระบบสากลในหลาย ๆ ประเทศมีการรับรองว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ 3 ซึ่งจะเป็นคนตรวจกระบวนการผลิต หรือว่าวัสดุการปลูก วัสดุที่ใช้เป็นปัจจัยการผลิตต่าง ๆ จะต้องมีความปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม ต้องมีการการันตีโดยบุคคลที่ 3 จึงมีการตรวจรับรองขึ้นมา โดยเน้นเรื่องอาหารปลอดภัย ผู้ผลิตปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย ในขณะนี้ทางกรมการข้าวมีโครงการนาแปลงใหญ่ ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อผลิต และร่วมกันจำหน่าย ซึ่งในนาแปลงใหญ่จะต้องมีการขอการตรวจรับรองมาตรฐานข้าว GAP และข้าวอินทรีย์ เพราะฉะนั้นจึงต้องรักษามาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำ ทำให้มีโครงการเชื่อมโยงโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์เกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ผลิตข้าวอินทรีย์ให้ได้ปริมาณที่มากยิ่งขึ้น จึงเกิดเป็นโครงการข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ขึ้นมา เป้าหมาย 1 ล้านไร่ ซึ่งตอนนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการครบล้านไร่ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะว่านอกจากจะมีในเรื่องผลตอบแทนที่ดีและเรื่องของการส่งออกแล้ว พี่น้องที่อยู่ในประเทศไทยก็จะได้รับประทานข้าว ที่เป็นอินทรีย์ ปลอดภัยจากสารเคมี รวมไปถึงเรื่องของการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

...


         

กระบวนการผลิตทั้งอินทรีย์ GAP หรือว่า GI อีกตัวหนึ่ง GI คือ Geographical Indication เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือจะมีทั้งการผลิต ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้บริโภคครบวงจร ครบห่วงโซ่ ผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าวกับหน่วยรับรองทั้งในประเทศและต่างประเทศ  หลังจากขึ้นทะเบียนต้องมีการเรียนรู้ระบบการตรวจสอบ และจะต้องมีการตรวจสอบมีการรับรองตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการแปรรูป อย่างกรณีของแปลงผลิตข้าวจะต้องได้รับรอง GAP หรือรับรองอินทรีย์ โรงสีก็ต้องได้รับการรับรอง GMP ทั้ง GMP ของในประเทศและของมาตรฐานต่างประเทศ หลังผ่านการรับรองแล้วต้องเข้าสู่กระบวนการขอรับรองบรรจุภัณฑ์ แปรรูปที่จะมาเป็นสินค้าข้าวถุง เพราะกระบวนการจะต้องครบวงจรและต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องข้าวคุณสมบัติเฉพาะ เช่น ข้าวสี ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวเหนียวลืมผัว เป็นข้าวเพื่อสุขภาพหรือข้าว กข43 ที่เป็นข้าวที่ให้น้ำตาลต่ำ ต้องผ่านการรับรองกระบวนการผลิตแล้วมาเข้าโรงสีก่อนมีการแปรรูป บรรจุถุงและต่อยอดสู่การขอรับรองข้าวพันธุ์แท้ ก็จะสามารถบอกได้ว่าเป็นข้าวพันธุ์อะไร ซึ่งหากพี่น้องเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มเข้าร่วมโครงการอินทรีย์ล้านไร่ ก็จะมีการทำระบบควบคุมภายในของมาตรฐานต่างประเทศ ซึ่งจะมีการส่งออกโดยกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่ดูแล ซึ่งการที่จะมาขอรับรองตรงนี้ได้ก็ต้องมีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการที่มีตลาดต่างประเทศ ตรงนี้ทางภาครัฐก็สนับสนุนในช่วงเริ่มต้นและอยากจะสนับสนุนให้พี่น้องเกษตรกรได้เข้ามาอยู่ในระบบการผลิต ซึ่งการผลิตเหล่านี้จะดูแลสุขภาพของผู้ปลูก รวมไปถึงผู้บริโภค สิ่งสำคัญก็คือผู้ผลิตปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชีวิตเกิดความยั่งยืน.