หวั่นกระบวนการทำมะพร้าวขาว ก่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่สมุทรสงคราม นำเทคโนโลยีบำบัดนำเสีย ถ่ายทอดผู้ประกอบการ จัดฝึกอบรมปฏิบัติจริง
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. น.ส.อุราวรรณ อุ่นแก้ว รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ลงพื้นที่ติดตามการนำเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียจากการผลิตมะพร้าวขาว ช่วยแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการโอทอป และเอสเอ็มอี ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยระบุว่า ได้นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ชุมชน เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างรายได้ให้กับเอสเอ็มอีและชุมชน
ทั้งนี้ ชุมชนส่วนใหญ่ในอำเภออัมพวา สร้างผลผลิตเป็นมะพร้าวผลและเตรียมเป็นมะพร้าวดำส่งตลาดสด หรือเตรียมเป็นมะพร้าวขาว ส่งเข้าโรงงานแปรรูปเพื่อทำกะทิ ซึ่งในกระบวนการทำมะพร้าวขาวก่อให้เกิดน้ำเสียในขั้นตอนของการแช่ชิ้นเนื้อมะพร้าว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า การดอง แม้ว่าจะเป็นการผลิตในครัวเรือน ในชุมชนเล็กๆ หรือล้งมะพร้าวขาวก็ตาม แต่น้ำเสียที่เกิดขึ้น หากถูกปล่อยลงสู่คลองในท้องร่องสวน ที่เชื่อมกับคลองซอย ลำประโดง และเชื่อมโยงกับคลองสาขา คลองหลัก แม่น้ำสายหลัก และแหล่งดินธรรมชาติในร่องสวนนั้นๆ โดยไม่ได้รับการบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาในวงกว้าง
...
ขณะที่ กรมวิทยาศาสตร์ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการบำบัดน้ำเสีย จึงจัดฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียและให้ความรู้ด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการในชุมชน นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดและตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมาได้ฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการบำบัดน้ำเสียอย่างง่าย และนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใหม่ เพื่อให้ตระหนักในการผลิตมะพร้าวขาวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับการออกแบบและการเตรียมวัสดุทำระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีการฝึกปฏิบัติการเตรียมพื้นคอนกรีต, การทำถังระบบบำบัดน้ำเสีย, ทำระบบดักไขมัน, ระบบเติมอากาศและระบบกรองอย่างง่ายเป็นต้น โดยเน้นฝึกอบรมปฏิบัติการให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ปฏิบัติจริง
“แม้จะมีการถ่ายทอดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ยังต้องมีการดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน รักษาสภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบบำบัดน้ำเสียนี้ต้องได้รับการเอาใจใส่ และได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องทั้งจากกรม หน่วยงานในพื้นที่ และผู้ประกอบการ เพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อมต่อไป”.