มันสำปะหลัง...หลังจากเก็บเกี่ยวหัวมันฯ ลำต้นส่วนใหญ่มักจะถูกตัดทิ้งเผาทำลายไปอย่างน่าเสียดาย นายฐิติกร วงค์เลื่อน นักศึกษาคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี คิดนำต้นมันฯมาผลิตเป็นแผ่นชิ้นไม้อัด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

“เนื่องจากครอบครัวปลูกมันสำปะหลัง จึงเห็นการปลูกมันฯมานาน มองเห็นสิ่งเหลือทิ้งที่ต้องทำลายด้วยการเผาแล้วกลายเป็นมลพิษ เลยคิดที่จะนำต้นมันฯมาใช้ประโยชน์ทำเป็นไม้อัด ให้สามารถนำมาใช้งานทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่น กระเป๋าถือ เพราะลายไม้อัดมันฯ มีความสวยงาม โดยมี ดร.สุภา จุฬคุปต์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา”

...

ฐิติกร บอกถึงขั้นตอนในการทำไม้อัดจากต้นมันฯ...เริ่มจากนำต้นมันสำปะหลังไปตากแดดให้แห้ง หรือจะใช้วิธีการอบไล่ความชื้น จากนั้นนำไปสับเป็นชิ้น แล้วนำไปบดย่อยให้มีความละเอียด ยาวประมาณชิ้นละ 1 ซม. เพื่อให้เกิดลวดลายของพื้นผิว แล้วนำไปผสมกับกาวลาเท็กซ์สูตรเฉพาะ ก่อนจะนำอัดขึ้นเป็นรูปตามขนาดที่เราจะต้องการใช้ จะได้แผ่นชิ้นไม้อัดจากต้นมันสำปะหลังที่นำไปใช้งานได้

จากนั้นนำแผ่นชิ้นไม้อัดที่ได้ไปทดสอบสมบัติทางกายภาพ ตามมาตรฐานการทดสอบความต้านทานแรงดัด ความต้านทานแรงดึง ปรากฏว่าไม้อัดต้นมันฯ หนา 10 ซม. สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่า 100 กก.ต่อ 1 ตารางฟุต มีคุณสมบัติเท่ากับไม้อัดที่ได้มาตรฐานทั่วไปสามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคารบ้านเรือน มีความแข็งแรงทนทาน ให้สีสัน Texture อันเป็นเอกลักษณ์ของต้นมันสำปะหลัง

และส่งผลให้งานชิ้นนี้ คว้ารางวัลวิจัยเหรียญทอง Special Awards from The Egypt Council of Innovations and Association และรางวัลเหรียญทอง Manila Young lnventors Association Philippine Gold Award for Invention.