รมว.แรงงาน ไปเป็นประธาน ปิดจ๊อบ สแกนม่านตาแรงงานต่างด้าว ที่ จ.สมุทรสาคร โดยมียอดทะลุเกินเป้าหมาย 7 หมื่นคน...

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง จ.สมุทรสาคร พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน พร้อมด้วยนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน แถลงผลการสแกนม่านตาแรงงานต่างด้าว (Iris Scan) ในกิจการประมงทะเล แปรรูปสัตว์น้ำและต่อเนื่องประมง ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนกำหนดในวันที่ 31 มี.ค. โดยผลการดำเนินงานใน 22 จังหวัดชายทะเล รวมทั้ง จ.สมุทรสาคร เสร็จไปแล้ว 99% ยังเหลือแรงงานบางส่วนประมาณ 700 คน ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเป็นแรงงานที่ยังอยู่ในเรือประมงประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ซึ่งคาดว่าจะทำได้ทันวันที่ 31 มี.ค. 

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ได้จัดเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าวโดยการสแกนม่านตา (Iris Scan) ใน 3 ประเภทกิจการ คือ 1. ประมงทะเล 2. แปรรูปสัตว์น้ำ และ 3. ต่อเนื่องประมง ใน 22 จังหวัดชายทะเล ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ระนอง ปัตตานี ชุมพร ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชลบุรี สงขลา ตรัง ฉะเชิงเทรา สตูล จันทบุรี นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 60 ตามคำสั่ง คสช. โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ซึ่งเบื้องต้นตั้งเป้าหมายแรงงานต่างด้าวไว้ที่จำนวน 168,538 คน ขณะนี้ การจัดเก็บอัตลักษณ์ได้เสร็จสิ้นตามเป้าหมายก่อนกำหนด อีกทั้งยังสามารถจัดเก็บอัตลักษณ์ได้เกินเป้าหมาย คือ 169,955 คน แบ่งเป็นประมงทะเล 57,883 คน และแปรรูปสัตว์น้ำฯ 112,072 คน 

...

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า จ.สมุทรสาคร สามารถดำเนินการได้ทะลุเป้าหมาย เก็บอัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวได้ถึง 68,610 คน แบ่งเป็นประมงทะเล 2,572 คน และแปรรูปสัตว์น้ำฯ 66,038 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 56,638 คน เป็นภาคประมงทะเล จำนวน 2,568 คน ต่อเนื่องประมงและแปรรูปสัตว์น้ำฯ จำนวน 54,070 คน 

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการจัดเก็บดำเนินการภายในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ OSS เป็นลักษณะตั้งรับ ต่อมากระทรวงแรงงานได้จัดชุดปฏิบัติการ 12 ชุด โดยได้รับการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัด และกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 จังหวัดกาญจนบุรี และกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยชุดปฏิบัติการได้เข้าไปดำเนินการในสถานประกอบการอีกทางหนึ่ง ตามแผนการที่ได้กำหนดไว้ร่วมกันกับผู้ประกอบการ สามารถแก้ไขปัญหาได้เรียบร้อยจนเสร็จสิ้นภารกิจ 

ทั้งนี้ การพิสูจน์ตัวบุคคลโดยใช้ลายนิ้วมือกับภาพถ่ายกับแรงงานในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำอาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะแรงงานในเรือใช้มือในการทำงานมาก ลายนิ้วมือก็ไม่ชัดเจน แต่การสแกนม่านตาสามารถพิสูจน์ตัวบุคคลได้ทันที ไม่สามารถบิดเบือนได้ ป้องกัน การสวมรอยตัวบุคคล ทั้งยังแก้ปัญหาการจ้างแรงงาน การเปลี่ยนงานได้อีกด้วย.