สสปท. ชี้ กฎกระทรวง มีขั้นตอนทำงานในพื้นที่อับอากาศ จะต้องมีการขออนุญาตในพื้นที่ สำรวจพื้นที่ และมีอุปกรณ์ตรวจวัดก๊าซพิษ และปริมาณออกซิเจนที่ ไม่ต่ำกว่า 19.5% จึงจะสามารถให้คนงานลงไปทำงานได้...

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.60 นายชัยธนา ไชยมงคล ผอ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.) องค์การมหาชน กล่าวถึงกรณีมีผู้เสียชีวิตในบ่อบำบัดน้ำเสียของสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2560 จำนวน 5 รายว่า กฎกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่อับอากาศนั้น จะต้องมีขั้นตอนในการทำงาน เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการที่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีก๊าซพิษ หรือที่เรียกว่าพื้นที่อับอากาศ โดยกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานต้องขออนุญาตไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าว จากนั้นต้องสำรวจพื้นที่ และมีอุปกรณ์ตรวจวัดก๊าซพิษ และปริมาณออกซิเจน ว่าสามารถทำงานได้หรือไม่

ทั้งนี้อุปกรณ์วัดปริมาณออกซิเจนในพื้นที่อับอากาศหรือบ่อบำบัดน้ำเสียนั้น ตามกฎกระทรวงจะต้องตรวจวัดว่าพื้นที่นั้นมีออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 19.5% ขณะที่บางประเทศกำหนดค่าออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 20.6% และในส่วนของปริมาณก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2s) ซึ่งเป็นก๊าซพิษนั้น จะต้องมีค่าเป็นศูนย์ (0 ppm.) จึงจะสามารถให้คนงานลงไปทำงานในพื้นที่อับอากาศได้ และผู้ปฏิบัติงานจะต้องลงไปทำงานด้วยการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล พร้อมถังอัดอากาศช่วยหายใจ รวมทั้งต้องมีผู้ช่วยเหลืออยู่บริเวณนอกใกล้เคียง ที่พร้อมจะช่วยเหลือทันทีเพราะสภาพในบ่อน้ำเสียอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

...

"ในเบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ รวมทั้ง สสปท. ทราบว่า ผู้ประสบเหตุ มี 2 คน คือ จนท. สิ่งแวดล้อม และ นศ. ที่มาดูงาน ไม่ได้เกิดจากการลงไปทำงานในพื้นที่อับอากาศ แต่เข้าไปในพื้นที่หวงห้าม และพลัดตกลงไปในบ่อน้ำเสีย จากนั้นได้มีพนักงาน 3 คน เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งเป็นบ่อน้ำเสียลึกลงไปราว 3 เมตร ซึ่งคาดว่าจะมีก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ภายในบ่อน้ำลึก ซึ่งเป็นพื้นที่อับอากาศ" ผอ. สสปท.กล่าว.