รมว.ยุติธรรม สั่ง ดีเอสไอ คุย สตช.-อัยการ วางแผนจับ 'ธัมมชโย' แนะยึดเจรจา รับกังวล คนมาปฏิบัติธรรมขวางตรวจค้น ไม่อยากให้บานปลาย ...

วันที่ 28 พ.ย. ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้าการติดตามจับกุม พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในฐานะความผิดสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร ว่า ตนได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ดูแลเรื่องดังกล่าว ซึ่งตนได้โทรศัพท์สอบถาม พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้พูดคุยประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ อัยการ ให้เรียบร้อย พร้อมร่วมกันวางแผนการทำงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน และให้มารายงานว่า ดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ เมื่ออัยการ สั่งฟ้องก็เป็นหน้าที่ ดีเอสไอ ต้องปฏิบัติและหาวิธีจัดการ โดยแนะนำว่าให้ไปพูดคุยกับวัดพระธรรมกายและผู้บังคับบัญชาทางสงฆ์ และไม่อยากใช้มาตรการผิดปกติ

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ตนได้สอบถามไปยัง ดีเอสไอ ก็บอกว่าอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย ซึ่งการขอหมายค้นจากศาล ต้องทราบที่อยู่ชัดเจน และไม่น่าจะมีปัญหา หากสามารถยืนยันกับทางศาลได้ โดยครั้งแรก ดีเอสไอ ขอหมายค้นก็ไม่มีปัญหาอะไร และถ้ายืนยันว่าอยู่ก็ต้องไปพิสูจน์ในศาล

"ผมไม่ทราบว่า ดีเอสไอ ประสานกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ อัยการอย่างไรในการดำเนินการให้แล้วเสร็จในสัปดาห์นี้หรือไม่ เนื่องจากสัปดาห์หน้า จะมีงานสำคัญภายในวัดพระธรรมกาย อาจทำให้คนเข้าวัดจำนวนมาก ส่วนถ้าทางตำรวจ ได้ตัวก่อน ดีเอสไอ ก็ต้องประสานเพราะมีหมายจับเหมือนกัน และผู้ถูกกล่าวหาคนเดียวกันด้วย" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการมีผู้เข้ามาขัดขวางเจ้าหน้าที่นั้น ดีเอสไอ พบตั้งแต่ขอหมายค้นครั้งแรกแล้ว ซึ่งมีความกังวลเพราะไม่อยากให้เป็นเรื่องบานปลายจะมาอ้างว่าปฏิบัติธรรม แต่เกิดภาพเหมือนการไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าไปขอตรวจค้นจนถึงมีการฟ้องร้องผู้ที่ขัดขวางเจ้าหน้าที่ ซึ่งภาพมันชัดเจน โดย นายกรัฐมนตรี ไม่อยากให้เรื่องเกินเลยเป็นปัญหาอื่นๆ

เมื่อถามว่าทางตำรวจ ดีเดย์ถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้ และทาง ดีเอสไอ มีกำหนดการหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อ ว่า ตนไม่ได้ถามดีเอสไอ แต่ไม่น่าใช้คำนี้ เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ แต่ขั้นตอนควรวางแผนให้รอบคอบ ไม่ใช่ขีดเส้นตาย

ต่อข้อถามครั้งที่สองจะดำเนินการจับกุมอย่างไร พล.อ.ไพบูลย์ เผยอีกว่า จะให้เจ้าหน้าที่ไม่ทำงานได้หรือไม่ ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน แต่หาก ดีเอสไอ ไม่ทำ ก็เป็นคนพิเศษขึ้นมาเหมือนเลือกปฏิบัติ และไม่ทำตามกฎหมาย ซึ่งทำให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเลือกปฏิบัติและจะกลายเป็นข้ออ้าง และสังคมยอมรับในสิ่งเหล่านี้หรือไม่เพราะดีเอสไอต้องทำคดีอื่นๆ อีกหลายคดี และผู้ต้องหาอ้างคดีนี้ขึ้นมา ดีเอสไอ จะตอบคำถามอย่างไร ถ้าทำกรณีนี้มีข้องดเว้นได้ ซึ่งเป็นมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม และดีเอสไอ ด้วย อย่างไรก็ตาม ตนรอ อธิบดีดีเอสไอ รายงานอีกที แต่ท้ายสุดต้องจัดการให้เรียบร้อยตามกระบวนการยุติธรรม.

...