เวียนมาบรรจบอีกคราสำหรับวันที่ 30 กันยายน ทุกปีถือเป็นวันสุดท้ายในการทำงานของใครหลายคน โดยเฉพาะข้าราชการที่อายุครบ 60 ปี ที่ต้องเข้าสู่วัยเกษียณอายุราชการ สำหรับพนักงานบริษัทเอกชนจะมีกำหนดเกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปี หรืออาจจะสิ้นปีปฏิทิน

หลายคนอาจกำลังสับสนว่า เช้าวันจันทร์ของต้นเดือนตุลาคม พวกเขาต้องดำเนินวิถีชีวิตอย่างไร? ตื่นกี่โมง? รวมไปถึงการจัดการช่วงชีวิตที่เหลือต่อจากนี้อย่างไร? ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ได้พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและนักวิชาการ เพื่อไขข้อข้องใจและแนะแนวชีวิตหลังเกษียณให้กับผู้ที่ยังไม่มีทางออก หรือยังไม่ได้เริ่มวางแผนชีวิตที่เหลือ

เริ่นต้นเปลี่ยนแปลง จัดทิศทางชีวิตที่เหลือ

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณจะมีความเปลี่ยนแปลงหลักๆ 2 ด้าน คือ การเปลี่ยนแปลงด้านการใช้ชีวิตประจำวัน และการเปลี่ยนแปลงรูปต่างไปตามวัย บางครั้งเราทำงานจนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง แต่เมื่อต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วัยนี้จะหันมาสนใจตัวเองมากขึ้น ช่วงแรกอาจจะเหงาและรู้สึกหงุดหงิด ตรงนี้ปัจจัยทางสังคมจะเป็นตัวช่วยที่ดี โดยการยอมรับที่จะใช้ชีวิตกับคนรอบข้าง รวมถึงคนในครอบครัว หากิจกรรมนอกบ้านทำ พร้อมเปิดรับสังคมใหม่

...

ข้อเสียของคนในวัยนี้คือ ความกังวล พวกเขาจะกังวลไปล่วงหน้า เช่น การวางแผนในการดำเนินชีวิตต่อไป แม้กระทั่งการบริหารเงิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะหลังจากเกษียณอายุการทำงานแล้ว รายรับจะลดลง การใช้จ่ายต้องคิดคำนวณมากขึ้น ฉะนั้นการหาที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ ก็เป็นการแก้ปัญหาอีกวิธี นอกจากนี้ควรหาความรู้ใหม่ๆ ที่จะปรับใช้ในช่วงชีวิตที่เหลือ

เกษียณวันเดียวกัน แต่วางแผนชีวิตต่างกัน

รศ.ดร.โยธิน แสวงดี นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กลุ่มผู้เกษียณอายุในไทย จำแนกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานบริษัทเอกชน กลุ่มแรกจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับชั้นตั้งแต่ซี 1-6 กลุ่มนี้จะมีอาชีพสำรองอยู่แล้วเป็นทุน เช่น ค้าขาย การเกษตร กสิกรรม เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อคนในกลุ่มนี้เกษียณอายุไป เขาก็ยังคงมีอาชีพอยู่ ต่อมา กลุ่มระดับซี 7-8 จะมีความรู้สึกสูญเสียเกิดขึ้น ในระยะแรกจะต้องการพักผ่อน และวางแผนการใช้ชีวิต หากเป็นคนต่างจังหวัดก็จะมีไร่นา สำหรับทำการเกษตรหรือกสิกรรม ท้ายสุดคือ ระดับซี 9-11 กลุ่มนี้จะเป็นผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ มีต้นทุนทางฐานะในสังคม จะมีการวางแผนชีวิตเป็นอย่างดี บางรายนำเงินไปลงทุนกับตลาดหลักทรัพย์ หรือบางรายนำเงินบำนาญและเงินออมไปทำธุรกิจ หากรายไหนเป็นคนต่างจังหวัดก็จะมีที่ทางให้ต่อยอดทำมาหากิน

ส่วน พนักงานบริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ย้ายถิ่นฐาน มีรายได้จำนวนมาก จึงเลือกที่จะลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ และใช้ไปกับการท่องเที่ยว เมื่อเกษียณอายุการทำงานก็จะเลี้ยงหลาน ไม่นิยมลงทุนกับภาคการเกษตร ติดนิสัยใช้จ่าย ซึ่งต้องปรับตัวเยอะกว่าข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

ดึงวัยเกษียณลงทุน Start Up หนุนเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ รศ.ดร.โยธิน ยังแนะนำอาชีพสำหรับผู้ที่กำลังเกษียณอายุ ว่า สังคมไทยกำลังผลักดันธุรกิจ Start Up เป็นธุรกิจที่ทุกคนสามารถลงทุนได้ “ผมคิดว่า หากผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณได้เข้าอบรม และทำธุรกิจ Strat Up พวกเขาจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นแน่นอน เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่มีพื้นฐานความสามารถ ประสบการณ์ และที่สำคัญคือ มีทุน อีกอย่างตอนนี้การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ดี ฉะนั้นหากผู้ที่สนใจควรเลือกทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว"

...

แต่ละปีของทุกหน่วยงานจะต้องมีผู้ที่เกษียณอายุออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เหมือนกับว่า พวกเขายังคงอยู่กับหน่วยงานนั้นๆ เสมอ ก็คือ คุณงามความดีและผลงานที่ปรากฏ แม้ตัวไม่อยู่ แต่สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นได้สรรค์สร้างจะเป็นประโยชน์ให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้นำมาเป็นแบบอย่าง

...ถึงเวลาคลาไคลวัยเกษียณ คนผลัดเปลี่ยนหน้าที่เพื่อพักผ่อน คุณความดีที่ทำสุดอาวรณ์ ขอมอบพรอันประเสริฐคุ้มครองเทอญ...