ปัญหาฝุ่น PM 2.5 นับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กรุงเทพมหานครเร่งหาทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ พิจารณาการออกประกาศห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีผู้บริหาร และผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา กองบังคับการตำรวจจราจร และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และผ่านระบบออนไลน์

รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/67 เมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 มีมติเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2568 ให้ผู้ว่าฯ กทม.ใช้อำนาจตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ออกประกาศกรุงเทพมหานคร

เรื่องการห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เมื่อการพยากรณ์คาดว่าจะมีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน ไม่น้อยกว่า 5 เขต

และเพื่อให้การพิจารณาหลักเกณฑ์ใน การออกประกาศฯ เป็นไปด้วยความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ว่าฯ กทม.จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้ขึ้น ณ วันที่ 29 พ.ย.67 เพื่อพิจารณาให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ หรือให้คำปรึกษา เพื่อประกอบการพิจารณาการออกประกาศฯ รวมทั้งเชิญบุคคลและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็น

...

ทั้งนี้ มาตรการที่ ผู้ว่าฯ กทม.จะใช้อำนาจตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 37 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในการออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด มีเป้าหมายเป็นรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป จำนวน 106,578 คัน (ยกเว้น EV, NGV, EURO 5 และ 6) และมีวัตถุประสงค์ในการห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้ากรุงเทพฯ ชั้นในช่วงที่ฝุ่นอยู่ในช่วงอันตราย เพื่อลดปัจจัยต้นตอสำคัญของมลพิษ

โดยหลักเกณฑ์การออกประกาศฯจะพิจารณาจากข้อมูลบ่งชี้ คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง (ค่า PM2.5 ตั้งแต่ 75.1 มคก./ลบ.ม.) 5 เขต หรือจากการพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน โดยค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระดับสีแดงมากกว่า 5 เขต หรือระดับสีส้ม (ค่า PM 2.5 ตั้งแต่ 37.6–75.0 มคก./ลบ.ม.) มากกว่า 15 เขต ประกอบกับอัตราการระบายอากาศ (VR) ต้องน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที และมีทิศทางลมจากตะวันออก

หากเข้าเกณฑ์ดังกล่าว กทม.จะพิจารณาออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้พิจารณาทบทวนตัดเงื่อนไขทิศทางลม เนื่องจากในช่วงที่ค่าเฉลี่ยฝุ่นสูงนั้นอาจมีลมที่พัดมาจากทิศอื่น เช่น ตะวันออกเฉียงเหนือ หรือบางครั้งอาจไม่มีลมพัดมาจากที่ใดเลยก็ได้

โดยพื้นที่บังคับใช้มาตรการในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร วงแหวนรัชดาภิเษก ได้แก่ ด้านในแนวถนน มีจำนวน 9 เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบฯ เขตสัมพันธวงศ์ เขตคลองสาน เขตสาทร เขตปทุมวัน และเขตบางรัก และแนวถนนผ่าน 13 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตวัฒนา เขตคลองเตย เขตยานนาวา เขตบางคอแหลม เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ เขตบางกอกน้อย และเขตบางพลัด ซึ่งจากเป้าหมายรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป 106,578 คัน มีจำนวนรถที่เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกเฉลี่ยวันละ 9,600 คัน โดยข้อมูล ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2567 มีรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปขึ้นทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) แล้ว 9,555 คัน (ร้อยละ 99.53 ของรถที่เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกเฉลี่ยต่อวัน)

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและมีแนวโน้มฝุ่นเพิ่มมากขึ้น คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง 10 เขต หรือจากการพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน โดยค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระดับสีแดง มากกว่า 10 เขต หรือสีส้มมากกว่า 25 เขต ประกอบกับอัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที และมีทิศทางลมจากตะวันออก จะมีการประกาศขยายพื้นที่ไปยังวงแหวนกาญจนาภิเษกเพื่อควบคุมปริมาณฝุ่นต่อไป

ทั้งนี้ ต้องติดตามกันต่อไปว่ามาตรการนี้จะใช้จริงเมื่อไหร่ และนอกจากมาตรการนี้แล้ว กทม.และหน่วยงานเกี่ยวข้อง จะมีมาตรการอื่นเพื่อป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM 2.5 อย่่างไร.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่