ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบ-หาสาเหตุ คานปูนหล่นจากอาคาร ถ.พระราม 4 ทับรถยนต์ พร้อมสั่ง ผอ. สำนักโยธา ตรวจดูการรื้อถอนเขตพื้นที่อื่น

จากกรณีเกิดเหตุระทึก คานปูนหล่นจากอาคารระหว่างการรื้อถอน บนถนนพระรามที่ 4 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ได้หล่นลงมาใส่รถยนต์กระบะที่จอดอยู่บนพื้นผิวการจราจร ได้รับความเสียหาย กระจกหน้ารถแตก กระบะท้ายรถยุบ โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ดังที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น (ระทึก คานปูนหล่นจากอาคาร ถ.พระราม 4 ทับรถยนต์พัง โชคดีไม่มีผู้บาดเจ็บ)

ล่าสุด เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 15 ธ.ค. 67  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย นายสุรัส ติระกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานโยธา เดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุ

โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดเผยหลังตรวจที่เกิดเหตุว่า เบื้องต้นเป็นการรื้ออาคาร ศรีเฟื่องฟุ้ง สูง 12 ชั้น รวมกับชั้นลอยประมาณ 14 ชั้น มีการขออนุญาตรื้อถอนตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ปี 66 วันเกิดเหตุได้รื้อถอนอาคารถึงชั้นที่ 6 โดยได้ตัดชิ้นส่วนของหัวเสาอาคาร และกำลังดำเนินการใช้เครนยกชิ้นส่วนดังกล่าวที่ตัดลงพื้น แต่ในระหว่างดำเนินการไฟฟ้าเกิดปัญหาช็อตภายในห้องคนขับเครน

ทำให้เกิดความขัดข้อง และเป็นเหตุให้สลิงรูดชิ้นส่วนอาคารตกลงมาจนทำให้เกิดเหตุ บนถนนพระราม 4 เป็นเรื่องที่อันตรายและไม่ควรจะเกิดขึ้น สั่ง ผอ. สำนักโยธาตรวจดูการรื้อถอนเขตพื้นที่อื่นด้วย ส่วนที่เกิดเหตุให้หยุดก่อสร้างก่อน เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงหาทางป้องกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

ผู้ว่าฯ กทม. เผยอีกว่า ปัญหาการรื้อถอนยังมีอยู่ 3 ส่วน ที่มีการร้องเรียนของประชาชนเข้ามา 1. เป็นเรื่องของเสียงรบกวนและฝุ่นความเดือดร้อนรำคาญ 2. เรื่องสิ่งอุดตันกับท่อระบายน้ำ 3. เรื่องของความปลอดภัย โชคดีที่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ต้องฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก ส่วนเรื่องฝุ่นพยายามแก้ไขโดยสาเหตุหลัก ก็ยังเป็นปัญหาที่รถยนต์โดยให้เปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องและยังมีการคุยกับโครงการฝนหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

...

ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่า ชิ้นส่วนแท่งคอนกรีตดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนหัวเสาที่ตัดจากชั้น 6 ช่วงจังหวะเครนยกชิ้นส่วนหัวเสาเกิดไฟช็อตแล้วสลิงรูดทำให้ตกลงมากระแทกพื้นชั้น 4 ชิ้นส่วนหัวเสาหลุดจากหัวจับ (ตัวล็อก) ของสลิง กระเด็นออกจากตัวอาคารทับสายไฟขาดและทับรถยนต์เสียหาย ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร

ขณะนี้มีการวางไว้ 2 สาเหตุหลัก 1. ทำตามขั้นตอนรื้อถอนของแผนที่วางไว้หรือไม่ 2. ความขัดข้องจากเครนที่ใช้ยก เกิดไฟช็อตที่เซฟตี้ล็อกของเครน กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 10 ถึง 15 วัน ขณะนี้สั่งให้หยุดรื้อถอนไว้ก่อนชั่วคราว รอกว่าจะหาสาเหตุที่แท้จริง เบื้องต้น ผู้ว่าสั่งหยุดรื้อถอนประมาณ 30 วัน

ด้าน ร.ต.ท.ธนศักดิ์ พันธ์โชติ รอง สว.(สอบสวน) สน. ทุ่งมหาเมฆ กล่าวถึงคดีดังกล่าวว่าอยู่ระหว่างการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ บริษัทรื้อถอนอยู่ระหว่างการเจรจาค่าเสียหายให้กับเจ้าของรถยนต์ทั้ง 3 คัน