นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ในฐานะกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุด และรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) ที่เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลุดร่วง บริษัทได้มีการหารือกับบริษัท อัลสตอม ประเทศไทย (Alstom Thailand) แก้ปัญหาระยะยาว โดยออกแบบล้อประคองและรางจ่ายไฟฟ้าใหม่ พร้อมเตรียมแผนทดสอบและทยอยปรับเปลี่ยน โดยในส่วนของล้อประคองนั้น บริษัท อัลสตอมออกแบบชุดล้อใหม่ ให้มีตัวล็อกเพิ่มขึ้นอีกชั้น และผ่านการทดสอบที่โรงงานผลิตแล้ว ขณะนี้ได้นำล้อประคองชุดใหม่เข้ามาทดสอบกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง 1 ขบวน และสีชมพู 1 ขบวนก่อน หากผลออกมาเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย จะเริ่มทยอยเปลี่ยนล้อประคองชุดใหม่นี้ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป โดยจะเปลี่ยนสายสีชมพู 42 ขบวน และสายสีเหลือง 30 ขบวน ครบหมดภายในปี 2568

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังคงใช้ล้อประคองแบบเดิม แต่ได้ดำเนินการซ่อมบำรุงและเปลี่ยนชุดล้อประคองที่ผลิตในลอตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุใหม่ทั้งหมดแล้ว ซึ่งหลังเปลี่ยนการใช้งานก็มีความมั่นใจมากขึ้นแล้ว โดยมีการเพิ่มความถี่ในการตรวจเช็ก ตรวจสอบอุปกรณ์ ตามที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เข้ามากำกับดูแล ซึ่งยังไม่พบปัญหาใดๆ ส่วนรางจ่ายไฟฟ้านั้น ทางอัลสตรอมได้มีการออกแบบใหม่แล้ว จากเดิมที่เป็นรางจ่ายไฟฟ้าความยาวต่อเนื่อง 5-6 กม. จะปรับให้สั้นลง โดยอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์และประเมินผลข้อดี ข้อเสีย รวมถึงค่าใช้จ่าย กรณีรางจ่ายไฟฟ้า การออกแบบเดิมจะให้รางจ่ายไฟฟ้ามีความยาวมากที่สุด เพื่อลดรอยต่อเชื่อมน้อย ซึ่งการปรับระยะรางให้สั้นลง อาจทำให้มีรอยต่อเชื่อมเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการดูแลซ่อมบำรุงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางเราอยากเปลี่ยนใหม่แต่ทางผู้ผลิตต้องสรุปข้อดี ข้อเสีย และค่าใช้จ่ายอีกครั้ง.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่