ปลัด มท.ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในโครงการต้นแบบ เพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันการหกล้ม กระดูกหัก รวมถึงหักซ้ำ บริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย นำร่อง 11 จังหวัดทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมพินนาเคิล 4&5 ชั้น 4 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลกรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในโครงการต้นแบบ เพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันการหกล้ม กระดูกหัก รวมถึงหักซ้ำ บริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย ร่วมกับ ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยและนายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจาก 8 หน่วยงาน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยผู้แทนหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการนำร่อง ทั้ง 11 จังหวัด 1 เขต (น่าน ลำพูน แพร่ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ระนอง นครศรีธรรมราช และสำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ) ร่วมรับฟังผ่านระบบออนไลน์

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติมาร่วมให้คำมั่น ยืนยันว่า สิ่งที่ ศ.นพ.กีรติ ตลอดจนทีมงานทุกภาคส่วน ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นพันธกิจของคนมหาดไทยในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข เพราะคนไทยทุกข์ทรมานจากโรคกระดูกหักจากการพลัดตกหกล้ม เกิดการบาดเจ็บและอาจเสียชีวิต โดยมีพี่น้องภาคีเครือข่ายและจังหวัดนำร่องทั้ง 11 จังหวัด และ 1 เขต ที่จะเป็นพื้นที่นำร่องต่อจากจังหวัดน่าน จะได้ร่วมกันทำให้เกิดสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย

...

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยและนายกสมาคมออร์โธปิติกส์แห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนโครงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการด้านดูแลติดตามและเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักรวมถึงการหักซ้ำ ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยและสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเมืองพัทยา ทั้ง 7,849 แห่ง ซึ่งราชวิทยาลัยฯ จะขยายผลร่วมกับกรุงเทพฯ เพื่อดูแลคนคนให้ครบทุกพื้นที่ เพื่อจะนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปขับเคลื่อนสู่พี่น้องประชาชน ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ตลอดจนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและสาธารณสุขอำเภอ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่มุ่งหวัง คือ จะทำคู่ขนานทั้ง 11 จังหวัดนำร่อง ควบคู่กับอีก 65 จังหวัดและกรุงเทพฯ เพื่อทำให้เกิดสิ่งดีๆ เหล่านี้ ขึ้นพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด เพราะกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการดูแลประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อนำสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชนทุกคน สิ่งสำคัญ คือ จะทำให้ทุกคนมีสุขภาพอนามัยที่ดี ตั้งแต่ก่อนครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ขอยืนยันว่า เป็นความตั้งใจของชาวมหาดไทยทุกคนที่จะช่วยกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ดูแลสุขภาพ ทั้งการรับประทานอาหารครบทุกหมู่ การรับประทานไข่ไก่วันละ 3 ฟอง การดูแลสุขภาพแม่และเด็กให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อให้เด็กได้คลอดมามีน้ำหนักตามเกณฑ์ ตลอดจนการส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยและสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จะร่วมกันเทคแอกชันอย่างเข้มข้น จริงจัง ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เพื่อประชาชนทุกช่วงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ด้าน ศ.นพ.กีรติ กล่าวว่า นับเป็นอีกวันที่ภาคภูมิใจ เพราะมุ่งมั่นที่จะดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้เป็นสังคมที่มีความสุข มีสุขภาพชีวิตที่ดี ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสในการพลัดตกหกล้ม ทำให้เกิดภาวะกระดูกหัก ทำให้บาดเจ็บจนอาจเสียชีวิต เป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ในการช่วยกัน โดยเฉพาะสิ่งที่มุ่งมั่นตั้งใจ คือ การดูแลผู้สูงอายุ ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้ม ประกอบกับจำนวนของหมอมีภาระงานมากขึ้นจากภาวะกระดูกหัก การผ่าตัดโรคกระดูกดังกล่าว ทำให้พวกเห็นว่า แทนที่จะรักษาผู้ป่วยจากกระดูกสะโพกหัก แต่จะต้องดูแลป้องกันก่อนที่จะเกิด ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น ต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เพราะกระดูกของมนุษย์ คื อชีวิต กระดูกเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิต หากกระดูกแข็งแรง ร่างกายจะแข็งแรง จึงมุ่งมั่นอยากทำให้ประชาชนได้ตระหนักในการดูแลตนเองให้พ้นจากความเสี่ยงดังกล่าวนั้นได้ โดยนำเอาองค์ความรู้ไปส่งมอบส่งต่อให้กับประชาชนคนในครอบครัว ทำให้คนในสังคมไทยมีความแข็งแรงมากขึ้น แม้ว่าราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยและสมาคมออร์โธปิติกส์แห่งประเทศไทยจะมีองค์ความรู้ แต่การส่งมอบองค์ความรู้ในพื้นที่ต่างๆ นั้น ต้องอาศัยจากทุกองค์กรที่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่าย จึงขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมมือกันในวันนี้ และจะเป็นจุดเล็กๆ ที่ก้าวเดินไปด้วยกัน

ศ.พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมความเป็นเลิศและคุณค่าองค์กร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ ไม่เพียงแต่สนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถศึกษาเองตามความเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลการรักษาและการดูแลต่อเนื่องที่บ้านและกับเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับนวัตกรรมด้านสุขภาพที่จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และระบบสุขภาพในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

...

ผศ.พ.ต.ต.นพ.ธงชัย สุนทราภา อุปนายกคนที่ 1 สมาคมออร์โธปิติกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในนามของกลุ่มศัลยแพทย์กระดูกและข้อทั่วประเทศมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนในการประสานความร่วมมือเครือข่าย เพื่อให้เกิดกลไกการดำเนินงานในระดับนโยบาย ระดับพื้นพื้นที่และระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการให้คำปรึกษาและความรู้เกี่ยวกับระบบการดูแล ติดตามและเฝ้าระวังในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกลูกหัก รวมถึงการหักช้ำบริเวณรอบข้อสะโพก เพื่อสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและลดความเสี่ยงในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้ดำเนินโครงการต้นแบบ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันกระดูกหักและหักซ้ำบริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย พัฒนาทักษะการดูแลผู้สูงอายุผ่านบุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงญาติ ผู้ใกล้ชิด เพื่อสร้างระบบการพัฒนาต้นแบบในการป้องกัน ลดการพลัดตกหกล้ม และกระดูกหักบริเวณรอบสะโพกทั้งรายใหม่และการหักซ้ำ ด้วยการหาแนวทางการขยายผล และพัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศที่ใช้ดูแลและเฝ้าระวังผู้สูงอายุไทยที่เป็นกลุ่มผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น ต้นทุนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และญาติ ภาระงบประมาณภาครัฐ ผู้สูงอายุที่เกิดการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพก มักจะเกิดการหักซ้ำ ซึ่งการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข และ อสม. ในพื้นที่จะเป็นการทำงานเชิงป้องกัน สามารถลดจำนวนผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการนี้ ถือว่า มีประโยชน์เป็นอย่างมาก หากพวกเราขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและบูรณาการไปในจังหวัดอื่นๆ ด้วย จะทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับประโยชน์มีคุณภาพชีวิตที่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มีระบบการตรวจสอบความเสี่ยงของผู้ที่มีความเสี่ยงการพลัดตกหกล้ม รวมถึงระบบที่จะป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุมีการหักซ้ำอีก

...

นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การดูแลรักษา หรือ แม้กระทั่งการฟื้นฟูหลังผ่าตัดที่จะทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้รวดเร็ว เป็นสิ่งที่ดีและต้องบูรณาการ โดย สปสช. ยินดีร่วมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ เรื่องข้อมูลต่าง ๆ ยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะโครงการนี้มีประโยชน์กับพี่น้องประชาชนและกับทางระบบ ซึ่งต้องให้เครดิตทางศิริราชที่ช่วยสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นมาและเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการไปพร้อมกัน

น.ส.ทวีพร เกตุร่าม ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารเภสัชภัณฑ์และเซลล์บำบัด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในบทบาทของ TCELS จะเข้าไปมีบทบาทอยู่ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ ซึ่งพร้อมในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้โครงการนี้ขับเคลื่อนต่อไป ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในทุกมิติและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีก

นายธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions รักษาการผู้บริหารสายงานบริหารจัดการเงินเพื่อธุรกิจและสายงานเทคโนโลยี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาบริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็น 1 ใน 5 อีโคซิสเตมส์ที่ธนาคารกรุงไทยให้ความสำคัญเสมอมา เพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อมโยงข้อมูลและบริการต่างๆ ล่าสุด ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการด้านการดูแล ติดตามและเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหัก รวมถึงการหักซ้ำ ซึ่งเป็นการรวมพลังขององค์กรชั้นนำจากหลายภาคส่วน ทั้งจากวงการแพทย์ หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงิน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม

...