"ดร.ทวารัฐ" เผยผลสำเร็จ CMDF จับมือ OKMD และภาคีเครือข่าย บุก ยะลา จัดกิจกรรม กระตุกต่อมคิด ติดอาวุธความรู้ด้านการเงินการลงทุน ให้เยาวชนชายแดนใต้ เรียนรู้ต่อยอด รู้เท่าทันมิจฉาชีพ อาจารย์ นักเรียนนักศึกษาขานรับ อยากให้จัดอีก
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 67 กิจกรรมตลาดนัดความรู้ ที่กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD จัดขึ้นที่ ศูนย์การเรียนรู้เมืองยะลา ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.–2 ส.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้ โครงการคาราวานความรู้ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาคและบ่มเพาะต้นแบบคนรุ่นใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเงิน การลงทุนให้แก่เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 13-18 ปี งานนี้มีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 944 คน ซึ่งสนุกสนาน และเต็มอิ่มไปด้วยความรู้ตลอดทั้ง 3 วันของการเข้าร่วมกิจกรรม
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้คือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านการเงินให้กับเยาวชน ได้สามารถรู้จักการวางแผนทางการเงิน และกลไกรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออม การลงทุน รวมถึงเรื่องของการรู้เท่าทันมิจฉาชีพที่แฝงตัวมา หลอกเอาเงินของเราไปในหลายวิธีการ การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 และที่เลือก จ.ยะลา เนื่องจากมองเห็นว่า นครยะลา เป็นต้นแบบของเมืองที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ จนได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโกให้เป็น "Learning City" หรือเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ และการเติมเต็มเรื่องการเรียนรู้ทางการเงินในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุน จ.ยะลา ซึ่งเป็นเมืองหลักแห่งการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในภาคใต้มาตลอด 20 ปี
...
"เราตั้งเป้าหมายที่จะกระจายความรู้ สู่พื้นที่ภูมิภาค โดยใช้กิจกรรมเหล่านี้เข้าถึงเยาวชนได้ทั่วถึง และจุดหมายปลายทางคืออยากสร้างแรงบันดาลให้กับน้องๆ เยาวชนที่ตั้งใจที่อยากจะมีอิสรภาพทางการเงิน ในอนาคตของตัวเอง คือ มีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย เพียงพอที่จะจุนเจือต่อครอบครัว และเพียงพอที่จะออมและลงทุนอย่างชาญฉลาดเพื่ออนาคตของตัวเอง การจัดกิจกรรมที่ จ.ยะลานี้เป็นครั้งที่ 5 มีเยาวชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้ามองโดยภาพรวมจากการจัดกิจกรรม 5 ครั้งที่ผ่านมาใน 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ลำปาง แม่ฮ่องสอน จันทบุรี และยะลา โดยมีน้องๆ เยาวชนเข้าร่วมมากกว่า 6,000 คน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก"ดร.ทวารัฐ กล่าว
ด้าน นายวิศาล จิรภาพงพันธ์ รองนายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ในพื้นที่โดย 3 จังหวัด และโดยเฉพาะเทศบาลนครยะลา เรามีความมุ่งมั่นในเรื่องของการพัฒนาเยาวชน เพราะการพัฒนาคน เราไม่สามารถที่จะพัฒนาในช่วงวัยเด็กแต่เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องพัฒนาคนทุกช่วงว่า โครงการตลาดนัดความรู้สู่ภูมิภาคครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเยาวชนชายแดนใต้ วันนี้ระดับการศึกษาของคนในพื้นที่มีน้อย ทำให้แก๊งมิจฉาชีพ คอลเซ็นเตอร์ มาหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ จนเป็นคดีความอันดับ 1 ของจังหวัด ขอบคุณภาคีเครือข่ายฯ ที่มาให้ความรู้ ติดอาวุธทางความคิดให้กับเยาวชน ซึ่งหวังว่าน้องๆ จะนำไปบอกต่อผู้ปกครอง และเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับรู้
"วันนี้ การเติมทุน และการวางแผนเรื่องการใช้จ่ายให้กับเยาวชนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จ.ยะลา เป็นพื้นที่รอยต่อที่ต้องพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เทศบาลนครยะลา พยายามร่วมมือกับ ภาคีเครือข่าย การพัฒนาเยาวชนต่อยอด เพิ่มความรู้ ให้กับเด็ก เพราะเชื่อว่า การติดอาวุธทางปัญญา จะนำพาประเทศให้ไปข้างหน้าได้" นายวิศาล กล่าว
สำหรับเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้กระตุกต่อมคิด ฝึกทักษะทางการเงินและการลงทุนให้กับเยาวชนในครั้งนี้ ได้แก่ กิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning จากองค์ความรู้พื้นฐานด้านทักษะทางการเงิน การออม การลงทุน ต่อยอดสู่ทักษะการเงินการลงทุนในอนาคต โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ การจัดนิทรรศการในรูปแบบเกม Fantasy Battle ที่พาไปเรียนรู้เรื่อง 3 พลังมหัศจรรย์ คือ 1. เงินต้น 2. อัตราผลตอบแทน 3. ระยะเวลา ผ่านลานประลองศึกที่อัศวินแต่ละกลุ่มสามารถเลือกแต่งคอสเพลย์ โดยใช้เครื่องแต่งกายเป็นตัวแทนของ 3 พลังมหัศจรรย์ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของเงินออม และยังมีกิจกรรม Interactive Workshop ในรูปแบบคาราวานตลาดทุน มีการจัดเวิร์กช็อปที่เน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการจำลองโลกของตลาดทุน ผ่าน Mobile Gaming เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ผ่านเกม Invest King จำลองโลกการเงินและการลงทุนเสมือนจริงไว้บนมือถือ ครอบคลุมเนื้อหาใน 8 ประเด็น ได้แก่
1) การวางแผนทางการเงินตามวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) 2) การกำหนดเป้าหมายและวางแผนการเงิน 3) รายได้ รายจ่าย และเงินออม 4) อัตราส่วนความอยู่รอดและอัตราส่วนความมั่งคั่ง 5) 3 พลังมหัศจรรย์ (เงินต้น อัตราผลตอบแทน ระยะเวลา) 6) การลงทุน อัตราผลตอบแทน และความเสี่ยง 7) การบริหารหนี้ และพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดหนี้ และ 8) ภัยจากการลงทุนและวิธีรับมือ
...
นอกจากนี้ยังได้ยกกิจกรรม Knowledge Network Partners ซึ่งเป็นคาราวานภาคีเครือข่าย มาให้ความรู้ ด้านการเงินการลงทุนผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การเสวนาจากภาคีเครือข่าย บอร์ดเกมส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุน กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนาคารออมสิน ที่มาถ่ายทอดการจำลองการวางแผนการออมอย่างมีเป้าหมาย แบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง ทั้งการประเมินความรู้และระดับความเสี่ยง เพื่อเลือกแผนการออมที่เหมาะสมกับตนเอง ตัวช่วยวางแผนการออมสู่เป้าหมาย และแหล่งความรู้ด้านเทคนิคการออม และการลงทุน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามนักเรียนที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า ได้ความรู้มากขึ้นและพร้อมที่จะนำไปต่อยอด โดยนางสาวซูนีซะ เนตรเนียมจันทร์, นางสาวฟิรดาว วาจิ และนางสาวอัสรีนะ เต๊ะ 3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 2 พูดไปในทางเดียวกันว่า ก่อนเข้ารับการอบรมมีความรู้เรื่องการออมบ้างจากที่โรงเรียนได้สอน ส่วนเรื่องการลงทุนไม่มีความรู้เลย ซึ่งภายหลังการอบรมทำให้ได้เรียนรู้ถึงการวางแผนการใช้เงิน และการลงทุนในอนาคต ที่มองไว้คือการสร้างธุรกิจค้าขายออนไลน์ นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้ถึงกลโกงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งคนใกล้ชิดก็เคยมีประสบการณ์ โดนหลอกลวง สูญเงินไปหลายแสนบาท ซึ่งทั้ง 3 คน จะนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ไปบอกกับผู้ปกครอง และเพื่อนที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ต่อไป
...
ขณะที่ นางสาวฮุษณา เจ๊ะอามะ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาการจัดการ สาขาการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เคยออมเงินเอง ไม่เคยวางแผนหรือจัดตารางการใช้เงิน มีเท่าไรใช้หมด แต่หลังจากที่ได้รับการอบรม ทำให้ได้เรียนรู้การวางแผนค่าใช้จ่าย ได้รู้ว่าเราจะออมเงินอย่างไรไม่ให้ติดลบ จะใช้จ่ายกับอะไรบ้างเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับเงิน เพื่อทำแผนการออมไว้ในอนาคตหลังเรียนจบ ทำให้ชีวิตเรามีเป้าหมายมากขึ้น
นางสาวฮุษณา กล่าวด้วยว่า การอบรมที่นำโทรศัพท์มือถือ หรือไอแพด มาใช้เป็นเครื่องมือ ก็มีส่วนในการดึงดูดเยาวชนให้เข้าร่วมกิจกรรมมาก ทำให้เราได้เข้าถึงการเรียนรู้ว่าการลงทุนประเภทไหนที่มีความเสี่ยง และการลงทุนประเภทไหนที่ปลอดภัย โดยวิทยากรได้กำหนดโจทย์ และให้เงินเรามา 2.9 ล้านบาท ตนได้นำเงินไปฝากประจำ 2 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าปลอดภัย และเงินก็ยังอยู่ ลงทุนในคริปโต อนุพันธ์การเงินอื่น หลักพันในแต่ละหน่วยลงทุน เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยง และลงทุนในทองคำ 5 แสนบาท เนื่องจากว่าปลอดภัยรองลงมาจากเงินฝาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงกว่าตรงที่เงินไม่ได้อยู่กับเรา และยังยอมรับด้วยว่า ครอบครัวของตนก็เคยตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสูญเงินจากการดูดเงินในบัญชีไปถึง 50,000 บาท ซึ่งเกิดจากขาดความรู้ความเข้าใจและรู้เท่าทันกลโกง ซึ่งหลังจากนี้ตนก็จะไปถ่ายทอดความรู้ให้กับครอบครัว ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง และการได้เงินมาง่ายจำนวนมากๆ ไม่มี สู้เราเก็บเงินไว้ทำอย่างอื่นดีกว่า
...
ด้าน นางสาวณชิชา นันชนก ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หนึ่งในวิทยากรที่ให้ความรู้ด้านการออมและการลงทุนในครั้งนี้ เล่าว่า เบื้องต้นต้องทลายกำแพงความเครียดของเด็ก เมื่อรู้ว่าต้องเข้ามาอบรมเรื่องการเงินและการลงทุน ด้วยเครื่องมือที่นำมาใช้คือ มือถือ และไอแพด ให้ความรู้ที่ถูกต้องการลงทุนในทุกรูปแบบ และให้เด็กตัดสินใจที่จะเลือกวิธีการออมและลงทุน ตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เช่น บางคนไม่ชอบความเสี่ยง ก็จะเลือกออมเงินด้วยการฝากเงินกับธนาคาร หรือ ออมทอง ส่วนคนที่ชอบความเสี่ยงลงทุนได้ผลตอบแทนสูงได้เงินเร็ว เช่น คริปโต และอนุพันธ์ทางการเงินต่างๆ เราก็ต้องให้ความรู้เขา เพื่อให้เขาตัดสินใจเอง จากนั้นก็ไปฝึกลงทุน กับภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยส่วนตัวอยากให้มีกิจกรรมในลักษณะนี้มากๆ เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ด้านการเงินและการลงทุนให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อวางแผนการลงทุนในอนาคต